แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แม้โจทก์ร่วมบรรยายคำร้องเพียงว่าผู้ตายมีรายได้จากการทำงานทั้งสิ้น 8,603,813.25 บาท โดยไม่ได้บรรยายว่าในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือหรือส่งเสียหรือให้การช่วยเหลือโจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์ร่วมระบุจำนวนเงินค่าขาดไร้อุปการะที่เรียกจากจำเลยเท่ากับจำนวนรายได้ที่ผู้ตายจะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งศาลสามารถพิจารณากำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้ คำร้องของโจทก์ร่วมจึงแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 , 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานางจิตรลดา ภริยานายประยงค์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้น อนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 705,660 บาท ค่ารักษาพยาบาลผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายและค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 24,674 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 8,603,813.25 บาท และค่าการศึกษาของบุตร 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,634,147.72 บาท แต่โจทก์ร่วมขอเรียกเพียง 9,500,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนอาญาไปก่อน แล้วจึงพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง โดยในคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 วรรคสาม การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด
สำหรับคดีในส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,824,674 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมบรรยายคำร้องว่า หากนายประยงค์ ผู้ตาย ทำงานได้จนอายุครบ 60 ปี ผู้ตายจะมีรายได้จากการทำงานทั้งสิ้น 8,603,813.25 บาท โจทก์ร่วมไม่ได้บรรยายคำร้องว่าในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือหรือส่งเสียหรือให้การช่วยเหลือโจทก์ร่วมเป็นเงินเท่าใดอันเกิดมาจากเงินที่ผู้ตายได้รับมาจากการทำงานก่อนถึงแก่ความตาย คำร้องของโจทก์ร่วมจึงเป็นการเรียกร้องเงินค่าทำงานของผู้ตาย ไม่ได้เรียกร้องเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า คำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเพราะเป็นค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แม้โจทก์ร่วมบรรยายคำร้องเพียงว่าผู้ตายมีรายได้จากการทำงานทั้งสิ้น 8,603,813.25 บาท โดยไม่ได้บรรยายว่าในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือหรือส่งเสียหรือให้การช่วยเหลือโจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าโจทก์ร่วมระบุจำนวนเงินค่าขาดไร้อุปการะที่เรียกจากจำเลยเท่ากับจำนวนรายได้ที่ผู้ตายจะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งศาลสามารถพิจารณากำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้ ดังนี้ คำร้องของโจทก์ร่วมได้แสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสองแล้ว คำร้องของโจทก์ร่วมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด ให้โจทก์ร่วมสูงเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีอาชีพรับราชการเป็นครูเงินเดือนเดือนละ 22,000 บาท มีความสามารถและฐานะดีพอ มั่นคง มีรายรับที่แน่นอนเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพระหว่าง ผู้ตายมีชีวิตก็ไม่ได้ส่งเสียหรือให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้รับเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดนั้น เห็นว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าระหว่างผู้ตายมีชีวิตจะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์ร่วมจะมีฐานะมั่นคงและประกอบอาชีพมีรายได้แน่นอนหรือไม่ เพราะเป็นสิทธิของภริยาจะพึงได้รับค่าชดใช้ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ร่วมได้รับเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นั้น เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มอบให้โจทก์ร่วมตามหลักเกณฑ์ของธนาคารจึงเป็นเงินที่โจทก์ร่วมพึงมีสิทธิได้รับไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ทั้งการกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าตามความหวังที่มีเหตุผลหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด ได้ความจากคำเบิกความของนางพิจิตร ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากันตัง ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่ออายุ 51 ปี ผู้ตายทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี ยังทำงานต่อได้อีก 9 ปี ผู้ตายมีรายได้เดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย 29,530 บาท ค่าครองชีพ 3,100 บาท เงินบำเหน็จพิเศษเดือนละ ร้อยละ 10 ของฐานเงินเดือน ซึ่งเดือนสุดท้ายได้ 2,953 บาท เงินสมทบกองทุนเลี้ยงชีพ เดือนละ 1,328.85 บาท รวมเดือนละ 36,911.85 บาทและมีโบนัสทุกปี แต่ละปีจะได้กี่เดือนแล้วแต่ผลงาน แต่ขั้นต่ำปีละ 3 เดือน เงินเดือนของผู้ตายจะปรับขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปีของทุกปี หากผู้ตายทำงานถึงเกษียณจะได้รับเงินเดือนสุดท้าย 52,048.40 บาท รวมรายได้ 9 ปี เป็นเงิน 6,673,608.75 บาท ดังนี้ เมื่อขณะเกิดเหตุผู้ตายอายุ 51 ปี ไม่ปรากฏว่าเจ็บป่วย ยังสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งหากผู้ตายไม่ถูกจำเลยขับรถชนถึงแก่ความตายเสียก่อน ย่อมเป็นที่คาด หมายได้ว่าผู้ตายจะมีชีวิตต่อไปอีก 9 ปี จนอายุครบ 60 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,500,000 บาท เฉลี่ยแล้วปีละ 277,777 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่เมื่อโจทก์ร่วมได้รับเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยนำมาชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,624,674 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,624,674 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9