คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่าเมรุเผาศพเป็นของโจทก์แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องต่อไปว่า เมรุเผาศพนี้สร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน ก็เป็นการบรรยายให้เห็นว่าเมรุเผาศพของโจทก์นี้ใช้ประโยชน์อย่างไร หาทำให้เมรุเผาศพของโจทก์กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับบุคคลอื่นนำรถแทรกเตอร์ไปไถทำลายเมรุเผาศพของโจทก์ซึ่งสร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน และต้นไม้อีกจำนวนหลายต้นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา358, 360 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับเมรุเผาศพ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเมรุเผาศพเป็นของโจทก์แม้โจทก์จะบรรยายต่อไปว่าเมรุเผาศพนี้สร้างไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนใช้เผาศพร่วมกัน ก็เป็นการบรรยายให้เห็นว่าเมรุเผาศพของโจทก์นี้ใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อเมรุเผาศพเป็นของโจทก์ โจทก์จะใช้ทำประโยชน์ส่วนตัวหรือให้ประชาชนใช้ร่วมกันก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่นั่นเอง เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะใช้ทำประโยชน์อย่างไรก็ได้ การที่โจทก์ใช้เมรุเผาศพของโจทก์เพื่อสาธารณประโยชน์ หาทำให้เมรุเผาศพของโจทก์กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่
พิพากษายืน.

Share