คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22312/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวอ้างว่าผลของสัญญาซื้อขายหุ้นทำขึ้นโดยคู่สัญญาที่มิได้มีสัญชาติไทยและมิได้ทำขึ้นในประเทศไทยจึงต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ โจทก์มิได้นำสืบว่ากฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยบังคับ
เมื่อสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโจทก์และผู้ถือหุ้น ส่วนที่เหลือของบริษัทโจทก์ในฐานะผู้ขาย กรานาด้า กรุ๊ป พีแอลซี ในฐานะผู้รับประกัน และพีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสอา ในฐานะผู้ซื้อ โดยฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ส่วนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนคนละประเทศกัน ย่อมมีความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ มีอำนาจกระทำการแทนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. สัญญาซื้อขายหุ้นจึงไม่มีผลผูกพันฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์.
เมื่อบริษัท พ. เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมที่ใช้ชื่อ เป็นชื่อทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ และรูปลวดลายประดิษฐ์ จึงมีสิทธิทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการดังกล่าวในประเทศไทยได้ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวทำขึ้นหลังจาก บริษัท พ. ซื้อสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในกรุงนิวยอร์ก การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่จดทะเบียนในต่างประเทศก่อนจดทะเบียนในประเทศไทยเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจึงมีผลใช้บังคับได้
ระหว่างพิจารณาคดีนี้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า ของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และพยานหลักฐานของอื่นโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักโรงแรมของโจทก์ก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือใช้ชื่อ ในประเทศไทย ส่วนจำเลยได้นำสืบถึงการโฆษณาในประเทศไทยเกี่ยวกับโรงแรมที่ใช้ชื่อดังกล่าวในกรุงนิวยอร์กของบริษัท พ. ตั้งแต่ปี 2541 เมื่อโรงแรมของจำเลยเปิดให้บริการในประเทศไทยจำเลยโฆษณาประชาสัมพันธ์และโรงแรมของจำเลยในประเทศไทยยังได้รับรางวัลและจัดอันดับโดยหนังสือท่องเที่ยวของต่างประเทศ เห็นว่า จำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการโดยสุจริตโดยอาศัยสิทธิของบริษัท พ. การประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตโดยมิได้อาศัยชื่อเสียงของโรงแรมของโจทก์ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งโจทก์ก็มิได้ประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย จึงไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการในประเทศไทยดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเลิกใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “HOTEL PLAZA ATHENEE” และหรือรูปลวดลายประดิษฐ์ตามเอกสารท้ายคำฟ้อง และดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิให้ปรากฏการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการหรือชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการที่เหมือนหรือคล้ายกันกับเอกสารสิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบกิจการโรงแรมของจำเลย ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายบริการตามทะเบียนเลขที่ บ 10610 คำขอเลขที่ 346281 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน จำนวนเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะยุติการทำละเมิด และแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้ชื่อและเครื่องหมายบริการ และห้ามจำเลยใช้ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการดังกล่าวหรือชื่อหรือเครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกัน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า นายอีมิลล์ก่อตั้งโรงแรมชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อปี 2479 โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลชื่อ “HOTEL PLAZA ATHENEE SA” และเข้าดำเนินกิจการโรงแรมดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่า “HOTEL PLAZA ATHENEE” และ “PLAZA ATHENEE” และโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “PLAZA ATHENEE” เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการรูปลวดลายประดิษฐ์รวมทั้งเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “PLAZA ATHENEE” ทั้งที่ร่วมหรือแยกจากกันกับรูปลวดลายประดิษฐ์ เพื่อใช้กับกิจการโรงแรม สิ่งของต่าง ๆ และเอกสารที่ใช้ในการประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา ตามรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ สิ่งของต่าง ๆ และเอกสารที่ใช้ในโรงแรม ประวัติโรงแรม หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ หนังสือคู่มือลูกจ้างพร้อมคำแปล สัญญาเช่าพร้อมคำแปล สิ่งพิมพ์โฆษณา โจทก์มีการโฆษณาเผยแพร่กิจการโรงแรมโดยใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการทั่วโลกรวมทั้งจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในประเทศไทย ต่อมาฟอร์เต้ ฟร้านซ์ เอสเอ (FORTE FRANCE SA) เข้าถือหุ้นของบริษัทโจทก์จำนวน 4,994 หุ้น จากหุ้นทั้งหมดจำนวน 5,000 หุ้น ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. (FORTE USA INC.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับฟอร์เต้ฟรานซ์ เอสเอ เปิดดำเนินกิจการโรงแรม “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่พีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสเอ (P A Holdings (L) France SA) โจทก์โอนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 1,949,828 ให้แก่ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ซื้อสินทรัพย์ของกิจการโรงแรม “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์.โอนเครื่องหมายบริการเลขที่ 1,310,491 และเครื่องหมายการค้าเลขที่ 1,949,828 ให้แก่บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัดหรือบริษัทพลาซ่าอาธินีโฮเต็ล จำกัด ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์ เสมือนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการแต่ผู้เดียว เพื่อใช้เป็นชื่อโรงแรมหรือกิจการโรงแรมในประเทศไทย โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขใด ๆ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “PLAZA ATHENEE” สำหรับบริการจำพวก 42 รายการบริการ ธุรกิจโรงแรม บริการภัตตาคาร บริการอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายของชำ บริการจัดอาหารและเครื่องดื่ม บริการชิมอาหาร ตามทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ บ 6551 คำขอจดทะเบียนเลขที่ 326211 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์คือเครื่องหมายบริการสำหรับบริการจำพวก 42 รายการบริการ โรงแรม ตามทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ บ 10610 คำขอเลขที่ 346281 ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “PLAZA ATHENEE” ตามทะเบียนเลขที่ บ 6551 ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 63 ตามคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 10/2545 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้นายทะเบียนดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 698/2543 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสืบเนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์กับบริการจำพวก 42 รายการบริการ โรงแรม ตามคำขอเลขที่ 346281 ด้วยเหตุว่าเครื่องหมายบริการที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วตามทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ บ 6551 ตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติให้ยกคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาดำเนินการเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 346281 ของจำเลยต่อไป แต่เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามทะเบียนเลขที่ บ 6551 ของโจทก์ไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องมีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 698/2543 และวินิจฉัยว่าเครื่องหมายบริการที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วตามทะเบียนเลขที่ บ 6551 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของบริการหรือแหล่งกำเนิดของบริการหรือไม่อีกต่อไป ปัญหาดังกล่าวย่อมไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์แต่เพียงว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์คือ เครื่องหมายบริการที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนสำหรับบริการจำพวก 42 รายการบริการ โรงแรม ตามทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ บ 10610 ดีกว่าจำเลยหรือไม่ และมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ ห้ามจำเลยใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” เป็นชื่อทางการค้า และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่แท้จริงในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก่อน ประกอบกับข้อความตามข้อ 5.9 (เอ) ของสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ระหว่าง ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ในฐานะผู้ขาย บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ในฐานะผู้ซื้อ และกรานาด้า กรุ๊ป พีแอลซี (GRANADA GROUP PLC) ในฐานะผู้รับประกันตามเอกสารซึ่งมีความหมายว่า ผู้ขายและบริษัทในเครือจะไม่หาประโยชน์หรือรบกวนสิทธิในชื่อ “PLAZA ATHENEE” ของผู้ซื้อในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ผู้ขายและบริษัทในเครือจะไม่หาประโยชน์ในชื่อ “PLAZA ATHENEE” ณ ที่อื่นในโลกนั้น ไม่อาจแปลความได้ว่าผู้ซื้อมีสิทธิใช้ชื่อ “PLAZA ATHENEE” ได้ทั่วโลกดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ส่วนข้อ 10.1 ของสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ และผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์ ในฐานะผู้ขาย กรานาด้า กรุ๊ป พีแอลซี ในฐานะผู้รับประกัน และพีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสอา ในฐานะผู้ซื้อเอกสารมีความหมายว่า ห้ามมิให้ฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ ในฐานะผู้ขายและบริษัทในเครือนำชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” หรือชื่อที่คล้ายกันไปใช้ เว้นแต่การใช้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงนิวยอร์ก ซึ่งถือว่าผู้ซื้อยอมอนุญาตให้ใช้ได้ ดังนั้น กลุ่มบริษัทฟอร์เต้รวมทั้ง ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีสิทธิใช้ชื่อ “PLAZA ATHENEE” หรือ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” เฉพาะในกรุงนิวยอร์กเท่านั้น ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. และบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยทราบถึงข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายหุ้น เนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างกันตามข้อ 5.9 (เอ) ในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว และทราบว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “PLAZA ATHENEE” กับรูปลวดลายประดิษฐ์ที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วโอนเครื่องหมายการค้าให้แก่ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ตามข้อตกลง บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด มีสิทธิใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการได้เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีสิทธิอนุญาตให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ในประเทศไทย เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2527 ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ดำเนินกิจการโรงแรมชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าในคดีนี้ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์โต้แย้งการใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าว แม้โจทก์อ้างว่าขณะนั้นมีฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ ซึ่งเป็นบริษัทเครือเดียวกันกับ ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือโจทก์ถูกครอบงำกิจการก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นมาเป็นบริษัทพีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสอา โจทก์ก็มิได้คัดค้านการใช้ชื่อทางการค้านี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา และตามสัญญาข้อ 10.1 ของสัญญาซื้อขายหุ้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ยินยอมให้มีการใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของโรงแรม “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงนิวยอร์กได้ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผลของสัญญาซื้อขายหุ้น มีผลผูกพันฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. เนื่องจากสัญญาระบุให้มีผลผูกพันบริษัทในเครือของผู้ขายซึ่งรวมถึงฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ด้วย นั้น เห็นว่า สัญญาซื้อขายหุ้นทำขึ้นโดยคู่สัญญาที่มิได้มีสัญชาติไทยและมิได้ทำขึ้นในประเทศไทย จึงต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างผลของสัญญามิได้นำสืบว่ากฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร จึงเป็นการที่โจทก์มิได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 8 เมื่อสัญญาทำขึ้นระหว่างฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโจทก์และผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือของบริษัทโจทก์ ในฐานะผู้ขาย กรานาด้า กรุ๊ป พีแอลซี ในฐานะผู้รับประกัน และพีเอโฮลดิงส์ (แอล) ฟรานซ์ เอสอา ในฐานะผู้ซื้อ โดยฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ส่วนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนคนละประเทศกัน ย่อมมีความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าฟอร์เต้ ฟรานซ์ เอสเอ มีอำนาจกระทำการแทนฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. สัญญาซื้อขายหุ้นจึงไม่มีผลผูกพันฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ส่วนการที่โจทก์โอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์เพื่อใช้กับสิ่งของในโรงแรมให้แก่ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. ตามสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าพร้อมคำแปลแนบท้ายสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าระหว่างฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. กับบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด พร้อมคำแปล ก็ปรากฏว่าโจทก์มีข้อตกลงให้โอนสิทธิทั้งหมดในเครื่องหมายการค้าให้แก่ฟอร์เต้ ยูเอสเอ อิงค์. โดยไม่มีเงื่อนไขใดและไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิงถึงข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายหุ้นไว้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับที่ประธานบริหารโรงแรมของจำเลยและประธานบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด พยานจำเลยตอบทนายจำเลยถามติงว่า ขณะที่พยานทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ พยานไม่ทราบถึงการซื้อขายหุ้น จึงเชื่อว่าบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ไม่ทราบถึงข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายหุ้น จึงไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว ส่วนข้อตกลงตามข้อ 5.9 (เอ) ในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ก็มิได้ระบุข้อจำกัดสิทธิ เงื่อนไขหรือขอบเขตในการใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ของบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ผู้ซื้อไว้แต่ประการใด มีเพียงข้อจำกัดสิทธิหรือขอบเขตการใช้ชื่อของผู้ขายและผู้รับประกันการขายเท่านั้น บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด จะใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ดังกล่าวในประเทศใดหรือจะอนุญาตให้บุคคลใดใช้ชื่อดังกล่าว จึงไม่ถูกจำกัดโดยข้อสัญญาแต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัด หรือบริษัทพลาซ่าอาธินีโฮเต็ล จำกัด เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมที่ใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” เป็นชื่อทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์ จึงมีสิทธิทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการในประเทศไทยได้ โดยสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ทำขึ้นภายหลังจากที่บริษัทพลาซ่าแอทธินีโฮเต็ล จำกัดหรือบริษัทพลาซ่าอาธินีโฮเต็ล จำกัด ผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิได้ซื้อสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของกิจการโรงแรม “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแล้ว การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และรูปลวดลายประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนในต่างประเทศก่อนที่จะนำเครื่องหมายบริการนั้นมาจดทะเบียนในประเทศไทย เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทย จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจึงมีผลใช้บังคับได้ นอกจากนี้ ข้อความในสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการระบุว่า “ผู้อนุญาตตกลงให้ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิใช้เสมือนเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” พร้อมรูปรอยประดิษฐ์ ตามข้อความและรูปเครื่องหมายท้ายสัญญานี้ได้แต่เพียงผู้เดียว เพื่อเป็นชื่อโรงแรมและหรือกิจการของผู้ได้รับอนุญาตซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย โดยไม่มีกำหนดเวลาและเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น” นั้น นอกจากจะเป็นการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการเพื่อใช้กับกิจการโรงแรมของจำเลยแล้ว ยังเป็นการอนุญาตให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นชื่อทางการค้าของจำเลยได้ กับทั้งได้ความตามพยานหลักฐานของจำเลยโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ก่อนที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการจำเลยตรวจสอบกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า โจทก์ไม่เคยใช้คำว่า “PLAZA ATHENEE” กับการประกอบกิจการโรงแรมในประเทศไทยในระหว่างศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาคดีนี้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า”PLAZA ATHENEE” ของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ บ 6551 โดยอ้างเหตุว่า ผู้ได้รับจดทะเบียน (โจทก์ในคดีนี้) มิได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายบริการสำหรับบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ และตามความจริงก็ไม่เคยมีการใช้เครื่องหมายบริการโดยสุจริตสำหรับบริการดังกล่าวเลย หรือในระหว่างสามปีก่อนที่จะมีคำร้องขอเพิกถอนมิได้มีการใช้เครื่องหมายบริการโดยสุจริตสำหรับบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 63 ตามคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและไม่ปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวหรือฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด กับทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในประเทศไทยอีก เมื่อพิจารณาถึงหลักฐานการโฆษณาประชาสัมพันธ์โรงแรมของโจทก์ที่นำสืบมาตามสิ่งพิมพ์ นิตยสาร แม็กกาซีนชื่อเดียวกับโรงแรมของโจทก์ และแผ่นพับของโจทก์ ก็ไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่ามีการเผยแพร่หรือจำหน่ายจ่ายแจกเอกสารในประเทศไทย ส่วนหลักฐานเว็บไซต์ของโจทก์ทางอินเทอร์เน็ตนั้น หากมิได้มีการค้นหาชื่อโรงแรมของโจทก์ ก็ไม่แน่ว่าสาธารณชนทั่วไปหรือผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงการโฆษณาหรือไม่ โจทก์ไม่ได้นำหนังสือนิตยสารในประเทศไทยที่พยานโจทก์อ้างถึงมานำสืบให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของนิตยสารดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าสาธารณชนในประเทศไทยรู้จักความมีชื่อเสียงแพร่หลายในกิจการโรงแรมของโจทก์ กับทั้งพยานโจทก์ล้วนเป็นบุคคลที่เคยเห็นโรงแรมของโจทก์ที่ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมาก่อน จึงรู้จักโรงแรมของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ว่า สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักโรงแรมของโจทก์ก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือใช้ชื่อ “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ในประเทศไทยส่วนจำเลยได้นำสืบถึงการโฆษณาในประเทศไทยเกี่ยวกับโรงแรมที่ใช้ชื่อในกรุงนิวยอร์กของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิตั้งแต่ปี 2541 เมื่อโรงแรมของจำเลยเปิดให้บริการในประเทศไทย จำเลยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้แก่โรงแรมผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิและโรงแรมของจำเลยควบคู่กัน และมีการติดต่อรับจองห้องพักในโรงแรมระหว่างกัน จำเลยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” และเครื่องหมายบริการโดยสุจริตโดยอาศัยสิทธิของบริษัทพลาซาแอทธินีโฮเต็ล จำกัด ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการ การประกอบกิจการโรงแรมของจำเลยโดยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการจึงเป็นการที่จำเลยได้ใช้สิทธิโดยสุจริตโดยมิได้อาศัยชื่อเสียงของโรงแรม “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ที่กรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มิได้ประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่ได้ประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศไทย เมื่อโจทก์ไม่เคยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” หรือใช้เครื่องหมายบริการกับกิจการโรงแรมในประเทศไทย จึงไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการว่าเป็นของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อโจทก์มิได้เข้ามาประกอบกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่าการดำเนินกิจการโรงแรมของจำเลยในประเทศไทยเป็นกิจการที่แข่งขันกับกิจการโรงแรมของโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส อันจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ในการที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายบริการ ในประเทศไทยดีกว่าจำเลยผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการนี้สำหรับบริการจำพวก 42 รายการบริการ โรงแรม ตามทะเบียนเลขที่ บ 10610 และรับฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยตามทะเบียนเลขที่ บ 10610 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 ได้ และโจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” กับกิจการโรงแรมของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 เมื่อได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าการใช้เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้าคำว่า “H?TEL PLAZA ATH?N?E” ของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้าของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 421 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่ากรณีโจทก์ไม่มีเหตุอันสมควรเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามทะเบียนเลขที่ บ 10610 ของจำเลยและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share