แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นละเมิด แต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ สำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ขายทอดตลาดโดยเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 โดยบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด” ตามพฤติการณ์แห่งคดีฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 8,188,433 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มิถุนายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 33 ซอย 3 (นานาเหนือ) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอาคารและทรัพย์สิน จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเลขานุการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของอาคารบี.เอช.ทาวเวอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 68 ซอยรื่นฤดี สุขุมวิท 1 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาให้โจทก์เช่าพื้นที่ชั้นที่ 1 ของอาคารบี.เอช.ทาวเวอร์ เนื้อที่รวม 88 ตารางเมตร เพื่อให้โจทก์ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้านมินิมาร์ท) มีกำหนด 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาได้ต่ออายุสัญญาเช่ากันเรื่อยมา ครั้งสุดท้ายวันที่ 21 มกราคม 2553 มีกำหนด 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตามสำเนาสัญญาเช่าและหนังสือต่อสัญญาเช่า หลังจากต่ออายุสัญญาเช่าครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 เมษายน 2554 แจ้งโจทก์ว่าสิ้นสุดการเช่า ขอให้โจทก์และบริวารออกจากพื้นที่เช่าภายในวันที่ 30 เมษายน 2554 ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 จำเลยที่ 1 ได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าในร้านค้าของโจทก์ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 807/2554 และวันที่ 17 มิถุนายน 2554 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่า โดยให้โจทก์เช่าหรือให้โจทก์คงมีสิทธิใช้สอยพื้นที่เช่าต่อไป ห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการใดอันเป็นการรบกวนสิทธิหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการขัดขวางการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าของโจทก์ ตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 1049/2554 จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งมาพร้อมกับคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันทั้งสองเรื่องและมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โดยให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 210,727.14 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าและทรัพย์สินที่ติดค้างอยู่ในร้านค้าของโจทก์และขนย้ายไปหรือไม่ เพียงใด ความเสียหายส่วนนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 2,550,000 บาท ในชั้นฎีกาโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามฟ้อง ฝ่ายจำเลยทั้งสามแก้ฎีกามีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า รายการสรุปราคาสินค้าและอุปกรณ์ในร้านของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ สินค้าบางรายการมีจำนวนมากกว่าความจริง ค่าเสียหายบางส่วนซ้ำซ้อนกับคดีก่อน และไม่มีการหักค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายอื่น โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้องก็มีส่วนให้รับฟังได้ และเมื่อคำนึงว่าคดีนี้เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ ซึ่งการเช่าทรัพย์นั้นคือการที่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด โจทก์เป็นผู้เช่าย่อมทราบได้ตั้งแต่ต้นว่าเวลาของโจทก์มีจำกัด โจทก์ไม่อาจจะใช้หรือได้รับประโยชน์ในพื้นที่ที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 ตลอดไป เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าหรือระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ตกลงต่อให้ตามที่ร่วมรู้เห็นตกลงกันไว้ โจทก์ก็ต้องออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป โจทก์ก็ไม่ดำเนินการ เมื่อจำเลยที่ 1 ตัดกระแสไฟฟ้า โจทก์ก็นำหม้อแบตเตอร์รี่มาใช้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างและใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าและได้ซื้อน้ำแข็งมาให้ความเย็นเพื่อรักษาสินค้าให้สดใหม่ การกระทำของฝ่ายโจทก์ก็แสดงออกถึงความดื้อดึงที่คิดแต่จะอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไป ไม่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนได้ทำไว้และไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตลอดถึงความเดือดร้อนของอีกฝ่ายหนึ่ง คิดแต่ตนเองฝ่ายเดียวสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น แม้การเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นการละเมิด แต่ถึงอย่างไรการกระทำก็ยังพออาศัยอ้างอิงไปตามข้อสัญญาจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสำหรับสินค้าและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในเวลาต่อมานั้น จำเลยที่ 1 ก็อ้างว่าได้มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ และสำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินนั้นก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 1ได้กระทำโดยการขายทอดตลาด มีลักษณะเปิดเผย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีดังที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 โดยบทบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด” ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีดังได้กล่าวแล้วเห็นได้ว่าฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ โดยไม่เกี่ยวกับค่าสินค้าและทรัพย์สินที่ได้จากการขายทอดตลาดและมีการคิดหักกันไปแล้ว แก่โจทก์ 250,000 บาท ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ ดังกล่าวแล้วว่าคดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะเรื่องการนำสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ที่อยู่ในร้านค้าของโจทก์ออกไปประมูลขาย ทำให้โจทก์เสียหาย ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินของโจทก์จากร้านค้าออกประมูลขายอย่างไร ฎีกาของโจทก์กล่าวชัดแจ้งเฉพาะเรื่องจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในขั้นตอนของการกลับเข้าครอบครองในพื้นที่ที่เช่า แต่ไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปมีส่วนทำการหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ที่ตกค้างอยู่ในร้านของโจทก์และขนย้ายไปขายทอดตลาด อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาในตอนหลังด้วยหรือไม่ อย่างไร ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มิถุนายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์