คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13624/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกเท่านั้น ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงินของสถานีอนามัยบ้านดอนนา ได้ครอบครองเงินจำนวน 433,420 บาท ของผู้เสียหาย และมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน การเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้ผูกพันและหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้และหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจที่ใช้ประกอบกับใบคำขอถอนเงินเพื่อเบิกเงิน แต่จำเลยกลับใช้ใบเบิกถอนเงินจำนวน 433,420 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงองค์ประกอบความผิดที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเงินของผู้เสียหายไปโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 6 สถานีอนามัยตำบลนาวุ้ง ปฏิบัติราชการที่สถานีอนามัยบ้านดอนนาลุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กระทรวงสาธารณสุข ผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงินของสถานีอนามัยบ้านดอนนาลุ่ม เมื่อระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดังกล่าวได้ครอบครองเงินจำนวน 433,420 บาท ของผู้เสียหาย และมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน การเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้ผูกพันและหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้และหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจที่ใช้ประกอบกับใบคำขอถอนเงินเพื่อเบิกเงิน แต่จำเลยกลับใช้ใบเบิกถอนเงินจำนวน 433,420 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงองค์ประกอบความผิดที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเงินของผู้เสียหายไปโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยฎีกานั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จึงเป็นฟ้องที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า เงินที่จำเลยยักยอกไปมีจำนวนสูง จำเลยกระทำไปโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางราชการ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 6 มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงิน แต่กลับมากระทำความผิดเสียเอง โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยจะชดใช้เงินที่จำเลยยักยอกคืนให้แก่ผู้เสียหายเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไปจำนวน 92,979 บาท กระทำความผิดเพื่อต้องการช่วยเหลือญาติพี่น้อง มีคุณความดีในการปฏิบัติราชการ และมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดาและหลานนั้น เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะกระทำความผิดควรจะคิดใคร่ครวญให้ดี มิใช่กระทำความผิดแล้วนำเงินที่ยักยอกไปมาคืนให้แก่ผู้เสียหายและนำเหตุผลส่วนตัวมาเป็นข้ออ้างขอให้ศาลปรานี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share