คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12708/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นมีหน้าที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุมาส่งมอบให้ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือฮ่องกง และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกขึ้นจากเรือไปวางบนลานพักสินค้าของการท่าเรือฮ่องกง ถือว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้ส่งมอบไว้ที่การท่าเรือฮ่องกงถือว่าไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 แล้ว การพบเหตุเพลิงไหม้ภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทหลังจากมีการลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปยังโรงพักสินค้า ไม่อาจถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เกิดในระหว่างที่ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39
การติดเครื่องหมายและสัญลักษณ์ไว้ที่ถังให้เห็นได้ชัดเจนนั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการแจ้งถึงสภาพอันตรายของสินค้าให้ผู้ขนส่งทราบ เพื่อให้ผู้ขนส่งทราบสภาพอันอาจก่อให้เกิดอันตรายและกระทำการเพื่อป้องกันด้วยการจัดระวางสินค้าอันตรายให้เหมาะสมและปิดเครื่องหมายอันตรายไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าอันตรายนั้นด้วย แต่หากผู้ขนส่งได้ทราบถึงอันตรายของสินค้า เช่น มองเห็นจากเครื่องหมายอันตรายที่ติดประทับอยู่ที่ถังบรรจุสินค้า ก็อาจทำให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นเนื่องในการขนส่งสินค้าอันตรายนั้นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 34 (2)
ความรับผิดของผู้ส่งของในกรณีที่ผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติถึงเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. กำหนด 10 ปี กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 มาใช้บังคับแก่ผู้ส่งของได้
พยานหลักฐานมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า สินค้าอาจต้องมีการตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การที่ส่งกลับมาตรวจสอบประสิทธิภาพที่ประเทศไทย รวมทั้งเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งเมื่อผู้ซื้อทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงเจตนาไม่ยอมรับสินค้าดังกล่าว ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวแล้ว การนำออกประมูลขายที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจึงน่าจะเป็นวิธีการบรรเทาความเสียหายของสินค้าได้ดีกว่าวิธีอื่น กรณีถือว่าสินค้าเสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยปริยาย
เมื่อความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยนั้นคือการไม่ได้รับสินค้าที่มีสภาพถูกต้องครบถ้วน ณ สถานที่ส่งมอบปลายทาง อันมูลค่าสินค้าในเวลาและสถานที่นั้นย่อมต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย ประกอบกับสินค้าในคดีคือเครื่องจักรและปั๊มน้ำ 110 หน่วย ที่ต้องถูกขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งการเดินทางมีระยะทางไกลและต้องใช้เวลาในการเดินทางทางเรือค่อนข้างนานนั้นเป็นสินค้าใหม่ ราคาสินค้าตามท้องตลาดที่ปลายทางจึงอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย การที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามสัญญาซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าที่เป็นราคา ซีไอเอฟ (CIF) ร้อยละ 10 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยไป จึงเชื่อได้ว่าเป็นการจ่ายโดยชอบตามความเสียหายที่แท้จริงแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 701,808.53 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 678,759.13 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,990 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย (วันที่ 22 เมษายน 2548) ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนกับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง แต่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 โจทก์รับประกันภัยสินค้าของบริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ผู้เอาประกันภัย ในการขนส่งประเภทเครื่องจักรแบบ GX160T1 LX จำนวน 30 หน่วย ราคาหน่วยละ 188 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 5,640 ดอลลาร์สหรัฐ และแบบ GX160T1 SX จำนวน 30 หน่วย ราคาหน่วยละ 145 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 4,350 ดอลลาร์สหรัฐ กับปั๊มน้ำ จำนวน 50 หน่วย ราคาหน่วยละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวม 110 หน่วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,990 ดอลลาร์สหรัฐ ในวงเงิน 21,989 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ผู้เอาประกันภัยขายในราคาซีไอเอฟ (CIF) ให้แก่บริษัทเซอร์วิซิโอ อากริโคลา ซาลวาดอเรโนเอสเอ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศเอลซัลวาดอร์ โดยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งในระบบซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส (CFS/CFS) ซึ่งหมายถึงผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้า เข้าตู้คอนเทนเนอร์และปิดผนึกตู้คอนเทนเนอร์ที่ประเทศต้นทางด้วยตนเอง ขนถ่ายลงเรือวันไฮ 165 (Wan Hai) ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2547 ขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรืออะคาจุทลา และจะต้องเปลี่ยนถ่ายลงเรือเมอสก์จิรอนเด (Maersk Gironde) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้บรรจุสินค้า เข้าตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข WHLU 5218531 แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อขาดความระมัดระวังได้บรรจุสินค้าประเภทอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล (ELectroplating Chemicals) จำนวน 120 ถัง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายประเภทไวไฟซึ่งเป็นของจำเลยร่วมไว้ในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันกับสินค้าของผู้เอาประกันภัยด้วย วันที่ 3 ตุลาคม 2547 เรือวันไฮ 165 เดินทางถึงท่าเรือ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าเพื่อรอขนส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ขณะนั้นบริษัทอีเทอร์นิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เฟรท ฟอร์วาร์ดเดอร์ (เอชเค) จำกัด ตัวแทนผู้ขนส่งพบว่ามีกลิ่นไหม้จากภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่เก็บไว้จึงได้ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์พบว่าไฟไหม้ มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาดับไฟโดยการฉีดน้ำเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ต่อมาโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทท๊อปลิส แอนด์ฮาร์ดิ้ง (มารีน) จำกัด เข้าสำรวจสินค้าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 พบสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้อันเนื่องมาจากมีสินค้าประเภทอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล จำนวน 120 ถัง บางถังแตกทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีแล้วเกิดเพลิงไหม้ เหตุดังกล่าวทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมด เนื่องจากมีรอยไหม้เปียกเปรอะเปื้อนและมีกลิ่นควันไฟจึงไม่เหมาะสมที่จะขายให้แก่บริษัทเซอร์วิซิโอ อากริโคลา ซาลวาดอเรโน เอสเอ จำกัด และผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าทั้งหมด 110 หน่วย ตามมูลค่าที่เอาประกันภัย 21,989 ดอลลาร์สหรัฐ ไปยังจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องมายังโจทก์ ส่วนสินค้าที่ได้รับความเสียหายบริษัทท๊อปลิส แอนด์ฮาร์ดิ้ง (มารีน) จำกัด ได้ทำการสำรวจสินค้าและคำนวณความเสียหายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนแล้วจึงนำไปประมูลขายเป็นซากสินค้าได้เงิน 53,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หักค่าพักสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 14,583.54 ดอลลาร์ฮ่องกง และค่าแรงคนงาน 600 ดอลลาร์ฮ่องกง คงเหลือ 37,816.46 ดอลลาร์ฮ่องกง โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทน 873,183 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 เต็มมูลค่าแล้ว เมื่อนำเงินที่ได้จากการขายซากสินค้าจำนวน 37,816.46 ดอลลาร์ฮ่องกง คิดอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 194,423.87 บาท มาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนจำนวน 873,183 บาท คงเหลือ 678,759.13 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของสินค้ากับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายนี้รับสินค้าของบริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด นำมาบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์รวมกับสินค้าของผู้ส่งรายอื่น จำเลยที่ 1 จัดวางสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจัดวางสินค้าพิพาทรวมกับสินค้าประเภทอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตราย และจัดวางสินค้าที่มีน้ำหนักมากถึง 780 กิโลกรัม ทับบนถังพลาสติกซึ่งบรรจุสารเคมีอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล การยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลงหลายครั้งทำให้เกิดแรงกดทับจนถังพลาสติกบรรจุสารเคมีดังกล่าวแตก สารเคมีรั่วไหลทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุจากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือปลายทางที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงส่งมอบให้แก่บริษัทอีเทอร์นิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเฟรท ฟอร์วาร์ดเดอร์ (เอชเค) จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพื่อขนถ่ายและขนส่งลงเรือเมอสก์ จิรอนเด อีกทอดหนึ่งเดินทางไปส่งให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศเอลซัลวาดอร์โดยจำเลยที่ 2 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ ระบุท่าปลายทางคือท่าเรือฮ่องกง และข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า เรือของจำเลยที่ 2 เดินทางถึงท่าเรือฮ่องกงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 ได้มีการยกตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุขึ้นจากเรือ และบริษัทอีเทอร์นิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เฟรท ฟอร์วาร์ดเดอร์ (เอชเค) จำกัด ได้รับตู้คอนเทนเนอร์นำไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าที่ จี แวร์เฮ้าส์ เพื่อรอการขนส่งต่อไป แต่ขณะตู้คอนเทนเนอร์ไปถึงโรงพักสินค้าดังกล่าว เจ้าหน้าที่พบว่ามีควันเล็กน้อยลอดออกมาจากประตูตู้คอนเทนเนอร์ จึงทำการเปิดออกดูพบเพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ภายในจึงมีการฉีดน้ำเข้าไปและควบคุมเพลิงไว้ได้ ต่อมาจึงได้มีการสำรวจความเสียหายของสินค้า เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นมีหน้าที่ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดเหตุมาส่งมอบให้ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือฮ่องกง และเมื่อตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกขึ้นจากเรือไปวางบนลานพักสินค้าของการท่าเรือฮ่องกง ถือว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้ส่งมอบไว้ที่การท่าเรือฮ่องกงถือว่าไม่ได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 แล้ว การพบเหตุเพลิงไหม้ภายในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทหลังจากมีการลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวไปยังโรงพักสินค้าไม่อาจถือได้ว่าความเสียหายของสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์เกิดในระหว่างที่ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยร่วมผู้ส่งสินค้าอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า สินค้าอิเล็กทรอแพลทติง เคมิคอล จำนวน 120 ถัง ของจำเลยร่วมที่มอบให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งนั้นเป็นสินค้าที่มีสภาพเป็นของเหลว อันก่อให้เกิดอันตรายได้ประเภท 8 สารกัดกร่อนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพิษและติดไฟได้ และจำเลยร่วมได้ทำเครื่องหมายโดยปิดป้ายแสดงไว้ที่ข้างถังว่าเป็นสินค้าอันตรายประเภท 8 แล้ว แต่จำเลยร่วมมิได้แจ้งให้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าแก่บริษัทเลิศสุขุม จำกัด ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าของจำเลยร่วม บริษัทเลิศสุขุม จำกัด จึงมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าของจำเลยร่วม เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายประสงค์จะให้มีการแจ้งถึงสภาพอันตรายของสินค้าให้ผู้ขนส่งทราบ เพื่อให้ผู้ขนส่งทราบสภาพอันอาจก่อให้เกิดอันตรายและกระทำการเพื่อป้องกันมิให้มีอันตรายเกิดขึ้นจากสินค้านั้น ด้วยการจัดระวางสินค้าอันตรายให้เหมาะสมและปิดเครื่องหมายอันตรายไว้ที่ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าอันตรายนั้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้ส่งของจะมิได้แจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายของสินค้านั้น แต่หากผู้ขนส่งได้ทราบถึงสภาพอันตรายของสินค้า เช่น มองเห็นจากเครื่องหมายอันตรายที่ติดประทับอยู่ที่ถังบรรจุสินค้า ก็อาจทำให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นเนื่องในการขนส่งสินค้าอันตรายนั้น ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 34 (2) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้า และจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งก็ไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งสินค้าของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงยังคงต้องรับผิดในความเสียหายอันเป็นผลเนื่องจากการขนส่งสินค้านั้น โดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 คนละกึ่งหนึ่งเท่า ๆ กัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดของผู้ส่งของในกรณีที่ผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติถึงเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีกำหนด 10 ปี กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 มาใช้บังคับแก่ผู้ส่งของได้ คดีนี้เหตุความเสียหายของสินค้าเกิดเมื่อเดือนตุลาคม 2547 จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549 จึงยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิดไม่ขาดอายุความ จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าของบริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อสุดท้ายว่า สินค้าของบริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ได้รับความเสียหายเพียงใด ตามรายงานการสำรวจความเสียหายของสินค้าของบริษัทท๊อปลิส แอนด์ ฮาร์ดิ้ง (มารีน) จำกัด บันทึกว่าได้เข้าไปสำรวจเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 พบสินค้าเครื่องจักรและปั๊มน้ำวางอยู่บนไม้รองสินค้า 11 พัลเล็ต ทั้งหมดอยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่แสดงเครื่องหมายว่าได้รับการเปียกน้ำและควันในระดับต่าง ๆ กัน ได้เปิดทั้ง 11 พัลเล็ตออก ปรากฏว่าจำนวน 60 กล่อง ที่บรรจุเครื่องจักรและจำนวน 50 กล่อง ที่บรรจุเครื่องปั๊มน้ำอยู่ในสภาพเรียบร้อยแต่เปียกน้ำและหรือควันในระดับต่าง ๆ เมื่อแกะกล่องพบว่าเครื่องจักรจำนวน 60 หน่วย และเครื่องปั๊มน้ำจำนวน 50 หน่วย รวมคู่มือของเจ้าของ ชุดเครื่องมือ ปรากฏในสภาพดี มีการถ่ายรูปสินค้าขณะทำการสำรวจไว้ด้วย ซึ่งตามรูปถ่ายเครื่องจักรและเครื่องปั๊มน้ำที่แกะกล่องมีสภาพใหม่ไม่มีร่องรอยความเสียหาย และมีบันทึกของโจทก์ต่อท้ายรายงานการสำรวจความเสียหายว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ยอมรับสินค้าทั้งหมด แม้จะไม่มีความเสียหายใด ๆ ทางรูปร่างวัตถุที่พบ แต่อ้างว่ามีผลกระทบโดยความชื้นและหรือควัน ไม่เหมาะสมในความมุ่งหมายของสินค้าที่จะส่งให้แก่ผู้ซื้อในเอลซัลวาดอร์ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความสูญเสียให้น้อยที่สุดควรขายซากสินค้าในราคาที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล ตามที่ได้มีผู้เสนอซื้อในราคา 50,350 ดอลลาร์ฮ่องกง หักค่าภาระจัดเก็บสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่นจำนวน 14,583.54 ดอลลาร์ฮ่องกง จ่ายค่าแรงคนงานที่โรงพักสินค้าอีก 600 ดอลลาร์ฮ่องกง คงเหลือเงินค่าสินค้าสุทธิ 37,816.46 ดอลลาร์ฮ่องกง แม้ตามรายงานการสำรวจความเสียหายและรูปถ่ายจะเห็นว่าตัวเครื่องจักรและเครื่องปั๊มน้ำที่อยู่ภายในกล่องยังมีสภาพใหม่ไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหาย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าสินค้าดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกับสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายประเภทสารกัดกร่อนของจำเลยร่วม เมื่อถังบรรจุสารเคมีอันตรายแตกและรั่วไหลออกมา สารกัดกร่อนดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสินค้าอันตรายประเภท 8 ซึ่งระบุถึงคุณสมบัติไว้ในวิธีดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอันตรายขาเข้าและขาออกแนบท้ายประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2544 ว่าเป็นพิษและติดไฟได้ เมื่อเปียกน้ำจะเกิดก๊าซไวไฟและเป็นตัวเติมออกซิเจน ดังนั้น เมื่อสารดังกล่าวไหลออกมาย่อมทำปฏิกิริยากับอากาศและสิ่งของภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกสารดังกล่าวปนเปื้อนเกิดไฟลุกไหม้ การที่สภาพกล่องของสินค้าที่เสียหายที่มีคราบเขม่าและเปียกน้ำอันเกิดจากการฉีดน้ำเพื่อดับไฟภายในตู้ แต่ก็มีผลทำให้สภาพอากาศภายในตู้คอนเทนเนอร์ขณะเกิดเหตุไม่ปกติและมีอันตรายเพราะทำปฏิกิริยากับสารเคมีก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยการนำสินค้าออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์ สภาพอากาศภายในตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงขณะเกิดเหตุจึงอาจมีผลต่อเครื่องยนต์กลไกของเครื่องจักรและปั๊มน้ำบ้างก็ได้ เพราะมิได้มีการห่อหุ้มตัวสินค้าดังกล่าวด้วยพลาสติก เพียงแต่มีพลาสติกปิดด้านบนของตัวสินค้าเท่านั้น พยานโจทก์ เบิกความว่า ผู้ซื้อได้ปฏิเสธไม่รับสินค้าที่สั่งซื้อทางโทรศัพท์หลังจากได้รับแจ้งว่าสินค้าเกิดเพลิงไหม้ สินค้าพิพาทเป็นสินค้าที่ประกอบขึ้นตามคำสั่งของผู้ซื้อที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ ไม่สามารถนำไปจำหน่ายที่ใดได้รวมทั้งประเทศไทย ประกอบกับพยานจำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสภาพความเสียหายของสินค้าบนเรือของบริษัทมารีน เซอร์เวย์เยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เบิกความว่า หากเปิดหีบห่อดูแล้วปรากฏว่าสินค้าที่อยู่ภายในโดยสภาพภายนอกไม่มีความเสียหายก็จะต้องตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงานของสินค้า หากประสิทธิภาพในการทำงานปกติพยานก็จะทำรายงานว่าสินค้าทำงานมีประสิทธิภาพปกติ ในกรณีนี้ เจ้าของสินค้าอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เพียงค่ากล่องซึ่งบรรจุสินค้ารวมทั้งค่าเสียเวลา กรณีนี้ถือว่าสินค้าไม่เสียหายเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่ได้ แต่หากการนำสินค้ากลับมาบรรจุใหม่ที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามูลค่าของสินค้า การนำสินค้าออกประมูลที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงก็น่าจะกระทำได้ จากพยานหลักฐานดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า สินค้าอาจต้องมีการตรวจสอบถึงประสิทธิภาพในการทำงาน แต่การที่ส่งกลับมาตรวจสอบประสิทธิภาพที่ประเทศไทย รวมทั้งเปลี่ยนกล่องบรรจุสินค้าใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งเมื่อผู้ซื้อทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงเจตนาไม่ยอมรับสินค้าดังกล่าว ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวแล้ว การนำออกประมูลขายที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจึงน่าจะเป็นวิธีการบรรเทาความเสียหายของสินค้าได้ดีกว่าวิธีอื่น กรณีถือว่าสินค้าเสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยปริยาย เมื่อความเสียหายที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยนั้นคือการไม่ได้รับสินค้าที่มีสภาพถูกต้องครบถ้วน ณ สถานที่ส่งมอบปลายทาง อันมูลค่าสินค้าในเวลาและสถานที่นั้นย่อมต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมด้วย ประกอบสินค้าในคดีนี้คือเครื่องจักรและปั๊มน้ำ 110 หน่วย ที่ต้องถูกขนส่งจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งการเดินทางมีระยะทางไกลและต้องใช้เวลาในการเดินทางทางเรือค่อนข้างนานนั้นเป็นสินค้าใหม่ราคาสินค้าตามท้องตลาดที่ปลายทางจึงอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย การที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามสัญญาซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าที่เป็นราคา ซีไอเอฟ (CIF) ร้อยละ 10 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยไป จึงเชื่อได้ว่าเป็นการจ่ายโดยชอบตามความเสียหายที่แท้จริงแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย เมื่อมีการนำสินค้าออกจำหน่ายมีผู้เสนอซื้อและโจทก์ตกลงขายไปเป็นเงิน 53,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หักค่าที่พักสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 14,583.54 ดอลลาร์ฮ่องกง และค่าแรงคนงาน 600 ดอลลาร์ฮ่องกง คงเหลือค่าสินค้าสุทธิ 37,816.46 ดอลลาร์ฮ่องกง ดังนั้น เมื่อหักค่าขายซากสินค้าออกจากจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาดอยู่จำนวน 678,759.13 บาท ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

Share