คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ โดยมีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการตามระยะทางที่ใช้งานจริงเป็นรายเดือนหรือช่วงระยะเวลาอันจำกัดตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยตกลงยอมชำระตามอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการค้าและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิดทุกประเภท รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน ดังนั้น การให้เช่าท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงของโจทก์จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าสังหาริมทรัพย์จากจำเลย อันมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6)
ขณะอนุญาตให้จำเลยใช้บริการนั้นโจทก์ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการไว้ โจทก์เพิ่งกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ตามลำดับ ย่อมแสดงว่าก่อนหน้าที่ระเบียบดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโจทก์และจำเลยไม่อาจนำปริมาณการใช้ท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 มาคิดคำนวณเป็นค่าเช่าในแต่ละเดือนได้เพราะยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการกันไว้ ต่อมาเมื่อโจทก์มีระเบียบกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายใช้บังคับ โจทก์จึงสามารถนำอัตราค่าใช้บริการตามระเบียบดังกล่าว ไปคำนวณกับปริมาณการใช้งานจริงเพื่อให้ทราบถึงค่าเช่าในแต่ละเดือนได้ โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 127,104,145 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันผิดนัดวันที่ 7 มกราคม 2542 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 44,130,677.24 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นจำนวนเงิน 8,897,270.15 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 180,132,092.39 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 127,104,145 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 180,132,092 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 127,104,145 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมโจทก์เป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จดทะเบียนนิติบุคคลใช้ชื่อว่า บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนจำเลยเดิมใช้ชื่อว่า บริษัทไทยเคเบิ้ลวิชั่น จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยูนิเวอร์แซล เคเบิ้ลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) และบริษัทยูบีซี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2537 โจทก์อนุญาตให้จำเลยสร้างและต่อเชื่อมเครือข่ายบริการโทรทัศน์ทางสายระบบบอกรับเป็นสมาชิกกับเครือข่ายโทรคมนาคมของโจทก์ ต่อมาวันที่ 7 และ 12 ตุลาคม 2537 จำเลยตกลงตามที่โจทก์อนุญาตและยินยอมชำระค่าเช่าวงจรตามอัตราที่โจทก์กำหนดเป็นการชั่วคราว และหากในอนาคตโจทก์กำหนดค่าบริการขึ้นใหม่ จำเลยยินยอมชำระในอัตราที่โจทก์เปลี่ยนแปลงนั้น ต่อมาในปี 2540 โจทก์กำหนดอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายและค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยชำระค่าเช่าวงจรในการใช้ท่อร้อยสายและใช้เส้นใยแก้วนำแสงที่จำเลยใช้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 โดยจำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเช่าวงจรในการใช้ท่อร้อยสายและใช้เส้นใยแก้วนำแสงจากโจทก์จริง แต่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 หรืออย่างช้าที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2540 ซึ่งเป็นเดือนถัดจากเดือนสุดท้ายที่จำเลยเช่าใช้อุปกรณ์ คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) นั้น โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่ามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่าดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ขาดอายุความ โดยนางวิภากร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนจำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือส่งวิทยุโทรศัพท์และเคเบิ้ลทีวี โดยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่โดยวิธีการแพร่กระจายไปในบรรยากาศหรือวิธีการใช้สายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า โจทก์อนุญาตให้จำเลยสร้างและต่อเชื่อมเครือข่ายบริการโทรทัศน์ทางสายระบบบอกรับเป็นสมาชิกกับเครือข่ายโทรคมนาคมของโจทก์เพื่อให้จำเลยบริการภาพและเสียงแก่ลูกค้าของจำเลย โดยจำเลยเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าอันเป็นกิจการของจำเลย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้ท่อร้อยสายและค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงแก่โจทก์ ซึ่งขณะอนุญาตให้จำเลยใช้บริการนั้น โจทก์ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการไว้ แต่ถ้าโจทก์กำหนดอัตราค่าใช้บริการแล้ว จำเลยยอมรับตามอัตราที่โจทก์กำหนด ส่วนจำเลยมีนายพิทักษ์ พยานจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยได้เช่าใช้ท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงจากโจทก์เพื่อใช้ในการส่งสัญญาณออกอากาศในธุรกิจของจำเลยจริง ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงอันเป็นสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ โดยมีการกำหนดอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงตามระยะทางที่ใช้งานจริงเป็นรายเดือนหรือช่วงระยะเวลาอันจำกัดตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้ว จำเลยตกลงยอมชำระตามอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการค้าและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิดทุกประเภท รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน ดังนั้น การให้เช่าท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงของโจทก์จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับโทรคมนาคม วิทยุคมนาคม กับธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่องและใกล้เคียงกัน โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าสังหาริมทรัพย์จากจำเลย อันมีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น จำเลยนำสืบว่าปริมาณการใช้และค่าบริการท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงไม่ถูกต้องโดยอ้างหนังสือที่ บริษัทเทเลคอม เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำถึงโจทก์เพื่อขอปรับลดจำนวนการใช้บริการเส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งนายพินิจ พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในส่วนนี้เพียงว่า หนังสือดังกล่าวระบุหมายความรวมถึงขอปรับลดการใช้บริการของจำเลยด้วย แม้ได้ความจากนายพิทักษ์และนายปรีชา พยานจำเลยว่า จำเลยเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทเทเลคอม เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกันและโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องและนำสืบให้เห็นว่า บริษัทเทเลคอม เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยหรือได้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยอันจะมีผลผูกพันจำเลยอย่างไรทางนิตินัย ทั้งในหนังสือดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยยอมรับต่อโจทก์ว่าเป็นหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่จำนวนเท่าใด พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ เมื่อได้ความจากนางวิภากรพยานโจทก์ว่า ขณะอนุญาตให้จำเลยใช้บริการนั้น โจทก์ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการไว้ โดยโจทก์เพิ่งกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสาย ตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ตามลำดับ ย่อมแสดงว่าก่อนหน้าที่ระเบียบดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโจทก์และจำเลยไม่อาจนำปริมาณการใช้ท่อร้อยสายและเส้นใยแก้วนำแสงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 มาคิดคำนวณเป็นค่าเช่าในแต่ละเดือนได้เพราะยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการกันไว้ ต่อมาเมื่อโจทก์มีระเบียบกำหนดอัตราค่าใช้เส้นใยแก้วนำแสงและอัตราค่าใช้ท่อร้อยสายใช้บังคับ โจทก์จึงสามารถนำอัตราค่าใช้บริการตามระเบียบดังกล่าวไปคำนวณกับปริมาณการใช้งานจริงเพื่อให้ทราบถึงค่าเช่าในแต่ละเดือนได้ โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 3 ตุลาคม 2546) เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share