แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถ. ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม ถ. ก็มีความความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจาก ถ. ถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ถ. จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของ ถ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 45,713,989.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 41,257,534.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 41,257,534.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายถนอมร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 41,257,534.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายถนอมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เดิมบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์รวม 15 แห่ง สถาบันการเงินดังกล่าวถูกระงับการดำเนินการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. นำสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ออกขายเพื่อชำระบัญชี โจทก์เป็นผู้ซื้อได้ ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2543 บริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำความตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับว่าคงค้างชำระหนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นเงิน 1,274,203,265.77 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,018,456,916.98 บาท นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยตกลงโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเดิมบางส่วนให้โจทก์หักหนี้ตามราคาที่กำหนด โดยมีนายถนอมเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หลังจากนั้นบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2543 ให้บริษัทดังกล่าวฟื้นฟูกิจการ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ประสงค์จะรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยรับภาระที่จะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตีใช้หนี้ยอดเงินจำนวน 165,846,640 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้เป็นเงินสดแก่โจทก์จำนวน 60,000,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอีกส่วนหนึ่งตีใช้หนี้ จำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 40,000,000 บาท แบ่งชำระ 7 งวด งวดละ 1 ปี เริ่มงวดแรกในปีที่สี่นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดชำระให้เสร็จภายใน 120 เดือน นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยชำระเป็นงวดราย 6 เดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 16 ของเดือนที่หกนับแต่เดือนที่ทำบันทึกข้อตกลง งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 30 ของเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด หนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระทันที เพื่อเป็นหลักฐานการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์รวม 8 ฉบับ โดยมีนายถนอมลงลายมือชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 8 ฉบับ และลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะผู้ค้ำประกัน วันที่ 27 กันยายน 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทโมเดอร์นโฮม แฟลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผน นายถนอมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2544 ต่อมาเมื่อถึงกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยงวดแรกวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 จำนวน 1,257,534.25 บาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระ จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นทายาทโดยธรรมของนายถนอม โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ชำระหนี้แล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่สุด
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้นอกจากนายถนอมทำสัญญาค้ำประกันบริษัทโมเดอร์นโฮม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ 1,274,203,265.77 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยไว้ต่อโจทก์แล้ว นายถนอมยังทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม นายถนอมก็มีความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจากนายถนอมถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายถนอม ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายถนอมจึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของนายถนอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของนายถนอม ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของนายถนอม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์