แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การไฟฟ้านครหลวงจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 2จัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนเกิดการลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ ผู้ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 2 นำสืบว่าได้ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีแล้ว แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าหรือทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการของรัฐในเรื่องการไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวง เขตคลองเตย มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ละเลยไม่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบและควบคุมระบบการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในการส่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และปลอดภัย เป็นเหตุให้สะพานไฟแบบสวิตซ์ใบมีดเสื่อมสภาพ ไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้โดยอัตโนมัติและมีความร้อนเกิดเป็นประกายไฟที่สะพานตรงจุดเชื่อมต่อของอุปกรณ์ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวหลอมละลายและลุกเป็นสะเก็ดไฟร่วงลงบนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 4 ป – 1473 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งจอดอยู่ติดกับเสาไฟฟ้าดังกล่าว และลุกไหม้ถังน้ำมันของรถจักรยานยนต์จนเกิดระเบิดขึ้นทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามเข้าไปในบ้านเลขที่ 101 ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 3 เป็นเหตุให้สินค้าอะไหล่รถยนต์และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองที่เก็บไว้ในบ้านถูกเผาทำลาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 14,099,069 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,867,937 บาท และชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,248,130 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,227,671 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ต้นเพลิงเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เสาไฟฟ้าแล้วลามไปลุกไหม้บ้านเลขที่ 101 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีประจักษ์พยาน 2 คน คือสิบตำรวจตรีวิศณุ เดียวสุรินทร์ และสิบตำรวจเอกบรรจง สลวยสวัสดิ์ เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า วันเกิดเพลิงไหม้ขณะพยานทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านที่ถูกเพลิงไหม้ประมาณ 100 เมตร ได้รับแจ้งว่ามีเหตุเพลิงไหม้ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุเห็นมีควันที่เสาไฟฟ้า แล้วมีประกายไฟช็อตพร้อมเสียงระเบิด จากนั้นมีสะเก็ดไฟตกลงมาถูกกันสาดผ้าใบและรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ใต้เสาไฟฟ้า เมื่อถังน้ำมันของรถจักรยานยนต์ลุกไหม้และระเบิดขึ้น เปลวไฟได้กระเด็นเข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย พยานโจทก์ทั้งสองเคยให้การเช่นเดียวกันนี้ต่อพนักงานสอบสวน โดยยืนยันว่าจุดเริ่มต้นเพลิงไหม้เกิดจากสายไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากประจักษ์พยานทั้งสองดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งสองยังมีพันตำรวจโทสมชัย หัสกุล พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานไปดูสถานที่เกิดเหตุ พบร่องรอยเพลิงไหม้จากบริเวณเสาไฟฟ้าหน้าบ้านลุกลามไปจนถึงบริเวณภายในบ้านตั้งแต่ชั้นล่างขึ้นไป และพยานได้สอบปากคำผู้เห็นเหตุการณ์อีกหลายคนได้แก่ นายสินไทย เชาวน์เลิศเสรี พ่อค้าขายข้าวสาร ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับซอยจรัสเวียงซึ่งให้การว่าเห็นไฟฟ้าช็อตเป็นประกายที่ขั้วสายไฟฟ้าแล้วลูกไฟตกลงมาเป็นสะเก็ด สักครู่ก็เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น ส่วนสิบตำรวจตรีประภาส ม่วงทิพย์ ให้การว่า เห็นควันที่สายไฟฟ้าบนเสาพร้อมประกายไฟและเสียงไฟฟ้าช็อต 2 ครั้ง โดยมีลูกไฟตกลงมาที่โคนเสาและผ้าใบกันแดดหน้าบ้านที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันเพลิงได้ลุกไหม้รถจักรยานยนต์และลังไม้ที่โคนเสา ต่อมาเพลิงจึงลุกลามเข้าไปในบ้านเกิดเหตุ คำให้การของนายสินไทยและสิบตำรวจตรีประภาสได้ความตรงกันกับคำเบิกความของสิบตำรวจตรีวิศณุและสิบตำรวจเอกบรรจง จึงน่าเชื่อว่าพยานเหล่านี้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุของร้อยตำรวจเอกกิตติ แจ่มกระจ่าง รองสารวัตรงาน 5 ช่วยราชการงาน 3 กองกำกับการ 1 กองพิสูจน์หลักฐาน ก็ได้ความว่า บริเวณด้านหน้าชั้นที่ 1 ของบ้านที่เกิดเหตุถูกเพลิงไหม้ก่อนและเสียหายมากกว่าบริเวณอื่น ๆ นอกจากนี้ที่เสาไฟฟ้าแรงสูงหน้าบ้านที่เกิดเหตุก็ถูกเพลิงไหม้ โดยเฉพาะบริเวณสะพานตัดกระแสไฟฟ้าด้านบนถูกเพลิงไหม้จนหลอมละลาย และฉนวนสายไฟฟ้าหลอมละลายบางส่วนดำเกรียมเหลือแต่ลวดโลหะ และจุดต้นเพลิงก็คือลังไม้ใส่กระดาษหน้าบ้านที่เกิดเหตุ จึงเชื่อว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากวัตถุที่มีไฟติดอยู่ตกลงมาบนวัตถุที่ไหม้ไฟง่าย เช่น กระดาษแล้วเกิดการลุกไหม้ขึ้น รายละเอียดปรากฏตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุนี้ได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสองคือนายศรีวิภัตร วิริยะธนกุล ผู้จัดการฝ่ายอัคคีภัย บริษัทเอส.อี แอ๊ดจัสเตอร์ จำกัดซึ่งทำการสำรวจที่เกิดเหตุว่า พบอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุถูกเพลิงไหม้อย่างรุนแรงน่าเชื่อว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร พีวีซีที่หุ้มสายไฟถูกความร้อนจนหลอมละลายและตกลงด้านล่าง ถูกกองวัสดุ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุ ตามภาพถ่ายและรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.22 และได้ความเช่นเดียวกับความเห็นของพันตำรวจโทชัยรัตน์ มีปรีชา รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านเกิดการลัดวงจร ตามเอกสารหมาย จ.10 ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า ต้นเพลิงเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่เสาไฟฟ้าแล้วลามไปลุกไหม้บ้านเลขที่ 101 จริง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า เพลิงได้ลุกไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าก่อนที่สิบตำรวจตรีวิศณุและสิบตำรวจเอกบรรจงเห็นเหตุการณ์ พยานทั้งสองจึงไม่ใช่ประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรก ประกอบกับร้อยตำรวจเอกมนตรี อามินเซ็น ผู้ชำนาญการกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจพิสูจน์อุปกรณ์ไฟฟ้าของกลางแล้ว ไม่พบร่องรอยการลัดวงจร จึงรับฟังว่า ต้นเพลิงไม่ได้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อสิบตำรวจตรีวิศณุและสิบตำรวจเอกบรรจงมาถึงที่เกิดเหตุยังไม่มีเพลิงลุกไหม้ในที่ใดคงมีแต่ควันขึ้นที่เสาไฟฟ้า จากนั้นจึงเกิดประกายไฟและมีเสียงระเบิดที่เสาไฟฟ้า ต่อมามีลูกไฟตกลงมาถูกผ้าใบ ลังไม้และรถจักรยานยนต์เพลิงจึงลุกไหม้และลามเข้าไปในบ้านของโจทก์ทั้งสอง กรณีไม่ใช่เกิดเหตุลุกไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าอยู่ก่อนที่พยานโจทก์ทั้งสองจะไปถึงดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ส่วนที่ร้อยตำรวจเอกมนตรีตรวจพิสูจน์อุปกรณ์ไฟฟ้าของกลางแล้วไม่พบร่องรอยการเกิดประกายไฟก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด เพราะนายสุกิจ เกียรติบุญศรี วิศวกรไฟฟ้า 10 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า หากมีการลัดวงจรเกิดขึ้นอาจจะไม่มีร่องรอยที่อุปกรณ์ก็ได้ ถ้าสวิตซ์อัตโนมัติตัดกระแสไฟฟ้าทันที ซึ่งก็ได้ความจากนายภานุวัฒน์ นิศารัตนชัยตำแหน่งช่างเทคนิคสายอากาศ 4 พนักงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองว่า เมื่อพยานได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ พยานไปยังที่เกิดเหตุทันทีเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าให้พนักงานดับเพลิงทำงานได้สะดวก ปรากฏว่ากระแสไฟฟ้าถูกตัดไปโดยอัตโนมัติแล้วเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร คำเบิกความของนายสุกิจและนายภานุวัฒน์ดังกล่าวเจือสมพยานฝ่ายโจทก์ เชื่อว่าเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรก่อนเกิดเพลิงไหม้จริง ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าบริเวณริมถนนจรัสเวียงหน้าบ้านเลขที่ 101 ตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 2 จัดให้มีขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนเกิดการลัดวงจรเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสองผู้ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีแล้ว แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 จึงไม่พ้นความรับผิด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองกระแสไฟฟ้าหรือทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่เรียกร้องมาเกี่ยวกับอาคารที่ถูกเพลิงไหม้จำนวน 630,542 บาท นั้น โจทก์ที่ 1 นำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนดังกล่าวและได้ความว่าบริษัทประกันภัยได้ชำระเงินสำหรับค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 ไปแล้ว 584,918บาท ซึ่งเพียงพอแก่ความเสียหายแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1เพิ่มขึ้นอีก ค่าอะไหล่รถยนต์ที่เรียกร้องมา ปรากฏจากรายงานการสำรวจค่าเสียหายของบริษัทเอส.อี แอ๊ดจัสเตอร์ จำกัด ว่า อะไหล่รถยนต์เสียหายตามราคาทุน 8,531,163บาท ตามเอกสารหมาย จ.23 แต่มีบางส่วนไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิง ประกอบกับโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยสำหรับค่าอะไหล่รถยนต์ไปแล้ว 450,435 บาทจึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,500,000 บาท ค่าขาดกำไรและค่าเช่าบ้านระหว่างซ่อมแซมบ้านที่ถูกเพลิงไหม้ โจทก์ที่ 1 ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าขาดกำไรเดือนละ 700,000 บาท จึงกำหนดให้เดือนละ 400,000 บาท รวม 2 เดือนคิดเป็นเงิน 800,000 บาท ส่วนค่าเช่าบ้านปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่า เสียค่าเช่าเดือนละ3,150 บาท นอกนั้นเป็นค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ค่าเช่า จึงกำหนดค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 3,150 บาท รวม 2 เดือน คิดเป็นเงิน 6,300 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8,306,300 บาท
สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้และรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 2 เรียกร้องมารวมเป็นเงิน 1,227,671 บาท นั้น ได้ความจากรายงานการประเมินและภาพถ่ายความเสียหายของเฟอร์นิเจอร์และของใช้ตามเอกสารหมาย จ.24 แล้ว มีเฟอร์นิเจอร์และของใช้บางรายการไม่เสียหาย บางรายการเสียหายเพียงบางส่วนและบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว จำนวน 463,725 บาทจึงกำหนดค่าเสียหายสำหรับค่าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 650,000บาท รถจักรยานยนต์ที่ถูกไฟไหม้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ดูแลรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพดีโดยปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้งถูกแดดถูกฝน จึงกำหนดค่าเสียหายให้ตามสภาพจำนวน 10,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 660,000 บาท สรุปแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8,306,300บาท และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1