แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นในคดีอาญาและคดีแพ่งนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาดังกล่าวก็ตาม เพราะบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 77,085 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 52,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันกระทำละเมิด (วันที่ 23 เมษายน 2550 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระตามกฎหมายแล้ว จึงไม่กำหนดให้ กับกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มูลเหตุคดีที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นกรณีเดียวกันกับที่พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษ ได้ฟ้องจำเลยในคดีอาญาว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และศาลจังหวัดศรีสะเกษวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คดีถึงที่สุด ดังนั้น ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่พนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษในคดีอาญาดังกล่าวก็ตามเพราะบทบัญญัติตามมาตรา 51 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 1 ธันวาคม 2550 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ