คำวินิจฉัยที่ 42/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๒/๒๕๕๕

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองระยอง
ระหว่าง
ศาลแขวงพระนครเหนือ

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองระยองโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๑ นางสาวฌานิกา เพ็ญวงษ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๑ สมาคม วูซู แห่งประเทศไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๐/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการคัดเลือกนักกีฬาวูซูทีมชาติ ประเภทต่อสู้ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้ง ๒๔ ที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้ฟ้องคดีเป็นนักกีฬาวูซู ประเภทต่อสู้ได้เข้าเก็บตัวฝึกซ้อมกีฬาวูซูที่โรงเรียนคิชฌกูฏวิทยา จังหวัดจันทบุรี ในระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังมิได้เบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือขอเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงค่าอาหารนักกีฬาและค่าคู่ซ้อมของนักกีฬารวม ๕ เดือน เป็นเงิน ๑๘๙,๗๐๐ บาท ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมทั้งแจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีและนักกีฬาวูซูอื่นที่ขออนุมัติเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงไม่เคยเข้าทำการฝึกซ้อมกับ ผู้ฝึกสอนชาวต่างประเทศ จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะอนุมัติเบิกจ่ายเงินดังกล่าวด้วย ผู้ฟ้องคดีได้ติดตามสอบถามผลการเบิกจ่ายเงินกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หลายครั้งแต่ได้รับ แจ้งว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าข้อเท็จจริงตามหนังสือดังกล่าวกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าฝึกซ้อมนั้นไม่เป็นความจริง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดจันทบุรี ได้มีหนังสือยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีได้เก็บตัวฝึกซ้อมที่จังหวัดจันทบุรีจริง นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการคัดเลือกตัวนักกีฬาวูซูโดยไม่เป็นธรรมด้วย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกนักกีฬาวูซูทีมชาติ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฝึกสอนชาวจีนที่ควบคุมการฝึกซ้อมกีฬาวูซูมีหนังสือรายงานต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่านักกีฬาหญิงในรุ่น ๕๒ กิโลกรัม และ ๖๐ กิโลกรัม รวมทั้งนักกีฬาชายในรุ่น ๖๕ กิโลกรัม ไม่ได้เข้าร่วมฝึกซ้อมกับผู้ฝึกสอนในช่วงเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อม แม้ชมรมกีฬาวูซูจังหวัดจันทบุรีได้มีหนังสือขอความเป็นธรรม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำการฝึกซ้อม จึงไม่อาจเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดประกอบกับหลักฐานการเบิกจ่ายเงินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและข้อกำหนดโดยมิได้ขัดต่อกฎหมายหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีแต่ อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมจึงไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงในการเก็บตัวฝึกซ้อม จึงไม่อาจขอเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้เร่งรัดเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงทำหนังสือขอเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายและต้องรับผิดในภายหลังจึงได้แจ้งข้อเท็จจริงตามรายงานของ ผู้ฝึกสอนชาวจีนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจสอบก่อนอนุมัติเบิกจ่าย การคัดเลือกนักกีฬาวูซู ทีมชาติ ประเภทต่อสู้ กระทำโดยชอบและเป็นธรรม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม จึงมิได้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง สำหรับคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ กำหนดให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬา หรือการประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการกีฬาหรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬาโดยมีทุนในการดำเนินการและอาจมีรายได้จากทรัพย์สิน เงินอุดหนุนจากรัฐบาล รายได้จากการแข่งขัน หรือรายได้อื่น หมวด ๗ การส่งเสริมกีฬา มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ กำหนดให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้ทุนหรือทรัพย์สินแก่คณะกรรมการการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬา หรือนิติบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการส่งเสริมกีฬา และหากสมาคมกีฬาใดประสงค์จะรับทุน หรือทรัพย์สินช่วยเหลือ ก็ให้ยื่นต่อ กกท. และหมวด ๘ การควบคุมการกีฬา มาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ กำหนดให้สมาคมใดซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาหรือส่งเสริมการกีฬาโดยตรงต้องได้รับอนุญาตจาก กกท. จึงจะดำเนินการจัดตั้งได้ โดยต้องอยู่ในการควบคุมและปฏิบัติตามข้อบังคับของ กกท. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการกีฬาและควบคุมการดำเนินกิจการกีฬาของประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แม้จะมีฐานะเป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมกีฬาวูซู หรือดำเนินกิจการกีฬาวูซู และดำเนินการส่งนักกีฬาเพื่อเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับประเทศ โดยจะต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้บังคับของกฎ ระเบียบ และนโยบายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการด้านกีฬาแทนรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการกีฬาโดยไม่เบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี และนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาซึ่งเป็นงบประมาณในการส่งเสริมเพื่อเตรียมนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวูซู ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินการควบคุมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และได้ยื่นคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล จึงทำความเห็นแยกตาม ประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การ ดังนี้ ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณามีว่า คำฟ้องคดีในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยมีฐานะป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๓ ทุนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประกอบด้วยเงินที่ได้จากงบประมาณแผ่นดินให้เป็นทุนตามมาตรา ๑๐ (๒) และอาจมีรายได้จากเงินอุดหนุนรัฐบาลตามมาตรา ๑๑ (๒) ในส่วนของคณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้แทน อธิบดีกรมพลศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้แทน ผู้แทนคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และบุคคลอื่นอีกไม่เกินสิบคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๑๔ จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับงบประมาณแผ่นดินและจากเงินอุดหนุนรัฐบาล คณะกรรมการประกอบไปด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๕๓ คณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือนิติบุคคล เพื่อใช้ในการส่งเสริมกิจการกีฬาของนิติบุคคลนั้นได้ตามมาตรา ๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับทุนและทรัพย์สินช่วยเหลือจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอยู่ในความควบคุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๒๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำหน้าที่คัดตัวนักกีฬา จ้างผู้ฝึกสอน จัดหาสถานที่เก็บตัวและฝึกซ้อม และขอเบิกจ่ายเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนด จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คำฟ้องคดีในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง จึงเห็นพ้องกับศาลปกครองระยองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คำฟ้องคดีในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองประเด็นถัดไปที่ต้องพิจารณามีว่า คำขอท้ายฟ้องที่ให้ดำเนินการลงโทษกับผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกตัวนักกีฬาวูซูทีมชาตินั้น อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขอให้ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดตัวนักกีฬาวูซูทีมชาติ เป็นการขอให้ลงโทษตัวบุคคล มิใช่ขอให้ลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคล การลงโทษบุคคลนั้นได้แก่ ลงโทษทางวินัย เช่น ไล่ออก ปลดออก ให้ออก งดเลื่อนตำแหน่ง งดเลื่อนเงินเดือน ภาคทัณฑ์ หรือลงโทษทางอาญา เช่น ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ได้ระบุมาให้ชัดเจนในคำขอท้ายฟ้องว่า ต้องการให้ลงโทษทางวินัยหรือลงโทษทางอาญาก็ตาม แต่ย่อมเข้าใจได้ว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะให้บุคคลผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกตัวนักกีฬาวูซู ได้รับโทษทางวินัยหรือทางอาญาหรือทั้งทางวินัยและทางอาญา แต่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ กำหนดให้การพิพากษาคดีศาลปกครองมีอำนาจกำหนดบังคับสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน สั่งให้ปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ สั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือสั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ ไม่ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ให้ดำเนินการลงโทษกับผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกตัวนักกีฬาวูซูทีมชาติ จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักกีฬาวูซูยื่นฟ้องการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๑ สมาคม วูซู แห่งประเทศไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกนักกีฬาวูซูทีมชาติ ทั้งสองศาลเห็นพ้องกันในประเด็นขอให้เบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง คงเหลือเฉพาะประเด็นที่ขอให้ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกนักกีฬาวูซูทีมชาติว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการกีฬาและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬาของประเทศ ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนสมาคม วูซู แห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือนิติบุคคล เพื่อใช้ในการส่งเสริมกิจการกีฬาของนิติบุคคลนั้นได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รับทุนและทรัพย์สินช่วยเหลือจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอยู่ในความควบคุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ ทำหน้าที่คัดตัวนักกีฬา จ้างผู้ฝึกสอน จัดหาสถานที่เก็บตัวและฝึกซ้อม และขอเบิกจ่ายเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยทำหน้าที่คัดตัวนักกีฬา จ้างผู้ฝึกสอน จัดหาสถานที่เก็บตัวและฝึกซ้อม และขอเบิกจ่ายเงินจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กำหนดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการกีฬาและควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬาของประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเรื่องในทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินกิจการการกีฬาไม่เบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้แก่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นการฟ้องว่าไม่ชำระหนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากความสัมพันธ์ในทางมหาชน เนื่องจากพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ หมวด ๗ การส่งเสริมการกีฬา มาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๕๒ บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยในการพิจารณาให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือแก่คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬา หรือนิติบุคคลอื่น เพื่อใช้ในการส่งเสริมกิจการกีฬานั้น ๆ โดยสมาคมกีฬาดังกล่าว ต้องยื่นคำขอต่อ กกท. ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำขอสนับสนุนกิจการการกีฬาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ และข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๗ ว่าด้วยเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา พิจารณาตกลงให้ทุนหรือทรัพย์สินช่วยเหลือแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการเตรียมนักกีฬาวูซูเข้าแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ แต่กลับไม่เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงในการเข้าเก็บตัวฝึกซ้อมกีฬาให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชำระหนี้อันมีฐานมาจากพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ และข้อบังคับการกีฬาแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๗ ว่าด้วยเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและกฎ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็น คดีปกครอง อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทของคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีปกครองแล้ว คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ลงโทษผู้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมในการคัดเลือกนักกีฬาวูซูทีมชาติ ก็เป็นคำขอที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวฌานิกา เพ็ญวงษ์ ผู้ฟ้องคดี การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ ๑ สมาคม วูซู แห่งประเทศไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share