คำวินิจฉัยที่ 69/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๙/๒๕๕๕

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายอรรถพล ตรีมั่นคง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๑ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๒ คณะกรรมการสภาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๓ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๙๔/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งที่ ๕๒๗/๒๕๕๑ จ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) คณะบริหารธุรกิจ อัตราเงินเดือน ๖๐,๐๐๐ บาท กำหนดระยะเวลาการทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา ๑๒๐ วัน โดยไม่ได้มีการทำสัญญากันตามที่กฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนด เมื่อครบกำหนดทดลองปฏิบัติงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นควรบรรจุผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำ แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กลับมอบหมายผู้อำนวยการหลักสูตรวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) ประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีโดยเห็นควรไม่บรรจุผู้ฟ้องคดี และต่อมาได้ต่อรองให้ผู้ฟ้องคดียินยอมเปลี่ยนสัญญาจ้างจากอาจารย์ประจำเป็นสัญญาจ้างปีต่อปีและจะดำเนินการบรรจุให้ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ผู้ฟ้องคดีลาออก โดยจะจ่ายเงินให้ผู้ฟ้องคดีสี่เท่าของเงินเดือนที่ได้รับ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ เป็นการบริหารงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นผู้แต่งตั้ง ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีแจ้งผลการประเมินทดลองปฏิบัติงานพร้อมทั้งกำหนดค่าชดเชยและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ้างการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๓ การถอดถอนผู้ฟ้องคดีจากการเป็นอาจารย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นกรณีไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงและข้อบังคับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งระบุว่าขณะอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องทุกข์ของคณะกรรมการคุ้มครอง ห้ามมิให้มหาวิทยาลัยเลิกจ้างหรือถอดถอนผู้ร้องทุกข์ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยที่เรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือชี้แจงว่า การร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและได้รับคำตอบข้อหารือว่า คำร้องทุกข์ดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า เรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เคยประเมินให้ผู้ฟ้องคดีผ่านการทดลองการปฏิบัติงานและเห็นควรบรรจุผู้ฟ้องคดีเข้าทำงาน ผู้ฟ้องคดีทำการสอนตามที่ได้รับคำสั่งแต่กลับถูกประเมินว่าไม่ได้ทำการสอน ผู้ประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานไม่มีอำนาจประเมิน การเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีไม่มีการสอบสวนเพื่อประกอบการวินิจฉัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งเลิกจ้าง การเลิกจ้างไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การบรรจุบุคคลซึ่งเข้าทำงานพร้อมกับผู้ฟ้องคดีและได้ทำการสอนเพียงบางส่วนเข้าเป็นอาจารย์ประจำเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีอำนาจเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีในขณะที่มีการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการอุทธรณ์นำคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไปรวมพิจารณาและมีมติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจ การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ตามข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๖๓ วรรคสอง ข้อ ๖๔ ข้อ ๖๕ ข้อ ๖๖ วรรคสอง และข้อ ๖๗ ที่ขัดกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ร้องทุกข์หรือผู้อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและหนังสือแจ้งผลการประเมินทดลองปฏิบัติงานและคำสั่งเลิกจ้าง เนื่องจากไม่ผ่านการทดลองงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ที่กระทำโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีต่อไป เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือตามคำขอข้างต้นแล้ว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และชำระเงินเดือน ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลและค่าสวัสดิการอื่นๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับในฐานะอาจารย์ประจำ นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ เป็นต้นไป กับให้เพิกถอนข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๖๓ วรรคสอง ข้อ ๖๔ ข้อ ๖๕ ข้อ ๖๖ วรรคสอง และข้อ ๖๗
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกันว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎ และข้อบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน สิทธิและหน้าที่รวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ข้อ ๓๐ กำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการบริการสาธารณะด้านการศึกษาอันเป็นกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการดังกล่าวตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำอันเป็นกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินกิจการบริการสาธารณะด้านการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดีจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานในสังกัดที่มีขึ้นเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานในบริการสาธารณะซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการศึกษา อันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจเหนือผู้ฟ้องคดีที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในกฎหมายแพ่งทั่วไป ข้อตกลงจ้างผู้ฟ้องคดีเข้าทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำเป็นไปเพื่อให้กิจการทางปกครองด้านการศึกษาตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับมอบหมายบรรลุผล จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อพิพาทคดีนี้ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่บรรจุผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๖๓ วรรคสอง ข้อ ๖๔ ข้อ ๖๕ ข้อ ๖๖ วรรคสอง และข้อ ๖๗ ซึ่งขัดกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙ และเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ร้องทุกข์หรือผู้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมกิจการทั่วไปของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้รวมถึงอำนาจในการออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๓๔ (๑๙) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกข้อบังคับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑๙) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้อำนาจทางปกครองดำเนินกิจการทางปกครองด้านการศึกษา และโดยที่ข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับกับผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นการทั่วไปจึงมีลักษณะเป็นกฎ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกข้อบังคับฯ ข้อ ๖๓ วรรคสอง ข้อ ๖๔ ข้อ ๖๕ ข้อ ๖๖ วรรคสอง และข้อ ๖๗ ขัดกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙ ขอให้เพิกถอนบทบัญญัติในข้อบังคับดังกล่าว กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกกฎตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีบรรยายในฟ้องว่าได้รับค่าตอบแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท ระหว่างได้รับแต่งตั้งให้เข้าทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับค่าตอบแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดเวลาที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งให้เข้าทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ที่ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลในฟ้องว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เคยประเมินให้ผู้ฟ้องคดีผ่านการทดลองการปฏิบัติงานและเห็นควรบรรจุผู้ฟ้องคดีเข้าทำงาน ผู้ประเมินผลการทดลองการปฏิบัติงานไม่มีอำนาจประเมิน การเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีไม่มีการสอบสวนเพื่อประกอบการวินิจฉัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งเลิกจ้าง การเลิกจ้างไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า การบรรจุบุคคลซึ่งเข้าทำงานพร้อมกับผู้ฟ้องคดีและได้ทำการสอนเพียงบางส่วนเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีอำนาจเลิกจ้าง ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งเลิกจ้าง โดยผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดหรือเป็นการเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน ผู้ฟ้องคดีชอบที่จะยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อศาลแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๙ สำหรับเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีได้กล่าวอ้างในฟ้องว่า ในขณะที่มีการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการอุทธรณ์นำคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไปรวมพิจารณาและมีมติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจ และตามคำขอก็ให้ศาลพิพากษาเพิกถอนให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างนับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และคำขออื่นที่เกี่ยวเนื่องกันนั้น ก็เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับการที่มีการนำคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานประจำผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปรวมพิจารณาและให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๓๐ บัญญัติว่า หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการคุ้มครองที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างหรือตามกฎกระทรวงให้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานซึ่งเป็นกรณีที่แสดงว่า เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเกิดขึ้น คู่กรณีจะต้องนำข้อพิพาทนั้นมาฟ้องต่อศาลแรงงาน และเรื่องทำนองนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ ๔๖/๒๕๕๓ โดยที่โจทก์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำเลยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และมีลักษณะเป็นคดีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีบรรยายในฟ้องว่าได้รับค่าตอบแทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในอัตราเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท โดยมีระยะเวลากำหนดการทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา ๑๒๐ วัน โดยภายหลังครบกำหนดทดลองปฏิบัติงาน คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ประเมินแล้ว ปรากฏว่าเห็นควรให้บรรจุผู้ฟ้องคดีเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำ แต่ต่อมาเมื่อมีการมอบหมายให้ผู้อำนวยการหลักสูตรวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) กลับเห็นควรไม่บรรจุผู้ฟ้องคดี โดยได้มีการเจรจาต่อรองกันให้ผู้ฟ้องคดียินยอมเปลี่ยนสัญญาจ้างจากอาจารย์ประจำเป็นสัญญาจ้างปีต่อปีและจะดำเนินการบรรจุให้ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอมและยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นอาจารย์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การเลิกจ้างไม่มีการสอบสวนเพื่อประกอบการวินิจฉัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งเลิกจ้าง การเลิกจ้างไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาและหนังสือแจ้งผลการประเมินทดลองปฏิบัติงานและคำสั่งเลิกจ้าง และให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา นับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การในทำนองเดียวกันว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎ และข้อบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีบรรยายในฟ้องว่าได้รับค่าตอบแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในอัตราเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท ระหว่างได้รับการแต่งตั้งให้ทดลองปฏิบัติงาน กรณีจึงเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตลอดเวลาที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแต่งตั้งให้เข้าทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำ สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวอ้างว่าการเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีการสอบสวนเพื่อประกอบการวินิจฉัยและไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานก่อนออกคำสั่งเลิกจ้างและไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการเลิกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ว่าไม่มีอำนาจเลิกจ้างและเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) เมื่อคดีพิพาทอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานแล้ว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอรรถพล ตรีมั่นคง ผู้ฟ้องคดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๑ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๒ คณะกรรมการสภาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๓ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share