คำวินิจฉัยที่ 65/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๕/๒๕๕๕

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นางวิไลวรรณ มามี ที่ ๑ นายบุญเชิด มามี ที่ ๒โจทก์ยื่นฟ้อง นางจุไร ชื่นสุวรรณ ที่ ๑ นางสิริพร สุ่มสกุล ที่ ๒ นายจรัญ วิทวัสการเวช ที่ ๓ นางรัชฎาพรรักษาแก้ว ที่ ๔ นางสาวปุณยพร จันที ที่ ๕ นายชัยยุทธ ตู้ทองคำ ที่ ๖ นางสาวศิรดา วรวงษ์ ที่ ๗ นางชฎาพร โกสุมาศ ที่ ๘ นางทรายทอง โพธิ์กีรติกุล ที่ ๙ นายสุพจน์ สุวรรณโชติ ที่ ๑๐ นายอนุวัฒน์เมธีวิบูลวุฒิ ที่ ๑๑ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๘๘/๒๕๕๒ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ ตำบลสะพานไทย (กบเจา) อำเภอบางบาล (เสนาใน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(กรุงเก่า) เนื้อที่ ๓ ไร่ ๖๒ ตารางวา ซึ่งเป็นสินสมรส แต่จดทะเบียนระบุชื่อโจทก์ที่ ๑ ในโฉนดที่ดินเพียงคนเดียว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ ถึงจำเลยที่ ๑๐ เป็นเจ้าพนักงานสังกัดกรมที่ดิน ส่วนจำเลยที่ ๑๑ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจหน้าที่ดูแลกำกับงานและข้าราชการในสังกัดกรมที่ดินให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๔ โจทก์ทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโดยแบ่งที่ดินให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ จำนวน ๖๒ ส่วนหรือเท่ากับ ๖๒ ตารางวา จากเนื้อที่ทั้งหมด ๑,๒๖๒ ส่วน หรือเท่ากับ ๑,๒๖๒ ตารางวา โดยมีค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อมา วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงและยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแบบจำกัดเนื้อที่ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแบ่งที่ดินออกเป็นสองแปลง แปลงที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ เนื้อที่ ๖๒ ตารางวาโดยจำกัดเนื้อที่ ส่วนแปลงคงเหลือทั้งหมดเป็นของโจทก์ที่ ๑ ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑จำเลยที่ ๓ ตำแหน่งนายช่างรังวัด ๖ ได้รังวัดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ ทั้งแปลง เพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ปรากฏว่าคำนวณเนื้อที่ได้ทั้งหมด ๓ ไร่ ๙๓ ตารางวา ซึ่งมากกว่าเดิม ๓๑ ตารางวา จำเลยที่ ๓ มีหน้าที่รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเนื้อที่จำนวน ๖๒ ตารางวา ตามคำขอรังวัดและบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์ ฉบับลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ เท่านั้น แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ กลับสมคบกันหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช โดยจำเลยที่ ๓ รังวัดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เพิ่มขึ้นอีก ๒๐๑ ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา โดยปกปิดและหลอกลวงให้โจทก์ที่ ๑ ลงลายมือชื่อในเอกสารที่จำเลยที่ ๓ จัดทำขึ้นด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ จำนวน ๖๒ ตารางวา ทำให้โจทก์ที่ ๑ หลงเชื่อ และลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว และต่อมาจำเลยที่ ๓ ได้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ที่ดินให้ตรงกับที่ได้รังวัดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ จากเนื้อที่ ๖๒ ตารางวา เป็น ๒ งาน ๖๓ ตารางวา และเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา โดยจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ หลอกลวงให้โจทก์ที่ ๑ ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนกับบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ได้จัดทำขึ้นด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นหลักฐานในการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑เพียง ๖๒ ตารางวา โจทก์ที่ ๑ หลงเชื่อตามคำหลอกลวง จึงลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นบันทึกข้อตกลงที่ให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมเพิ่มขึ้นอีก ๒๐๑ ตารางวาโดยไม่มีค่าตอบแทนนอกจากนี้จำเลยที่ ๕ ยังหลอกลวงให้โจทก์ที่ ๑ ลงลายมือชื่อรับรองรูปแผนที่ว่าถูกต้อง การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้ที่ดินเพิ่มโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑๐ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมทั้งมีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทน บันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมฉบับลงวันที่ ๒๙ มกราคม๒๕๕๒ ว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาจริงหรือไม่ โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ที่ ๑ ได้ให้ความยินยอมในการยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้หรือไม่ การที่จำเลยที่ ๑๐ ออกโฉนดที่ดิน เลขที่ ๒๐๓๐๓ ตำบลสะพานใหม่ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสองทราบความจริงได้มีหนังสือขอให้จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวที่คลาดเคลื่อน เพิกถอนบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนและบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ด เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่านิติกรรมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ และบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๓๐๓ หรือให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ เนื้อที่ ๒๐๑ ตารางวา คืนโจทก์ที่ ๑ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๓๔ เนื้อที่ ๓ ไร่ ๖๒ ตารางวาโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ลักษณะที่ดินมีคลองชลประทานผ่านกลางที่ดิน ทำให้ที่ดินถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง คือทางด้านทิศเหนือกับทางด้านทิศใต้ของคลองชลประทาน เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๔ จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ ตกลงซื้อขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะแปลงทางด้านทิศเหนือของคลองชลประทานทั้งแปลง ราคา ๑๕,๐๐๐ บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่จดทะเบียนซื้อขายให้ อ้างว่าต้องเป็นการซื้อขายทั้งแปลงหรือมิฉะนั้นต้องรังวัดให้ทราบเนื้อที่จำนวนแน่นอนก่อน โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการรังวัดเพราะทราบแนวเขตที่จะซื้อขายกันอยู่แล้ว จึงทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว แต่เนื่องจากไม่ทราบเนื้อที่แน่นอนจึงกะประมาณเนื้อที่ที่ซื้อขายกันว่าน่าจะมีจำนวน ๖๒ ตารางวา จึงระบุให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน ๖๒ ส่วน หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้ครอบครองที่ดินที่ซื้อมาตลอดจนถึงปัจจุบันโดยโจทก์มิได้โต้แย้ง ต่อมาโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ ตกลงจะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงทำคำขอโดยระบุเนื้อที่ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำนวน๖๒ ตารางวา ตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่ดินที่แจ้งว่าต้องระบุตามเดิมไปก่อนหากรังวัดได้เนื้อที่เท่าไรแล้วสามารถทำให้ตรงกับความเป็นจริงได้ พอรังวัดแล้วปรากฏว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๑ มีเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ดังนั้นโจทก์ที่ ๑ จึงตกลงทำบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามความเป็นจริงโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์และไม่เคยหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ ตามคำฟ้องแต่อย่างใดค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ ให้การทำนองเดียวกันว่า ปฏิบัติราชการโดยสุจริตและชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย มิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ หลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสิบเอ็ดยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ทั้งสองทำคำชี้แจงว่า โจทก์ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์ที่ ๑กับจำเลยที่ ๑ และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการฉ้อโกงอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง อีกทั้งมูลละเมิดแห่งคดีนี้ยังเป็นกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ตกลงซื้อขายหรือให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๖๒ ตารางวา ตามที่โจทก์อ้าง หรือ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ตามที่จำเลยที่ ๑ ให้การไว้เสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ เนื้อที่ดิน ๓ ไร่ ๖๒ ตารางวา โดยให้มีชื่อโจทก์ที่ ๑ในโฉนดที่ดินพียงผู้เดียว ที่ดินมีคลองชลประทานผ่านกลางที่ดินทำให้ที่ดินถูกแบ่งออกเป็น ๒ แปลง ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๔ โจทก์ที่ ๑ ได้ตกลงขายที่ดินแปลงฝั่งตรงกันข้ามให้กับจำเลยที่ ๑ โดยให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทรวม ๖๒ ส่วน หรือ ๖๒ ตารางวา โดยมีค่าตอบแทน ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๑โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ มีความประสงค์จะแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาทตามส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขอแบ่งแยกเป็นสองแปลงแปลงแรกเนื้อที่ ๖๒ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ แปลงที่สอง แปลงคงเนื้อที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ ๑ ในการรังวัดแบ่งแยก โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้สมคบกันหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ตำแหน่งนายช่างรังวัด ๖ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรังวัดได้ทำการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยที่ ๑ เกินไปจากส่วนที่ตนมีสิทธิโดยทุจริตทั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ หลอกลวงให้โจทก์ที่ ๑ ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำและเอกสารต่างเพื่อใช้ในการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินให้จำเลยที่ ๑ เพิ่มขึ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ใช้อำนาจตามมาตรา ๗๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในการรังวัดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามคำขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑โดยจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนและบันทึกขอแก้ข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมขึ้นโดยทุจริต ทั้งไม่แจ้งให้โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ ๑ ให้ความยินยอมในการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรส และได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อฉลให้โจทก์ที่ ๑ ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนกับบันทึกขอแก้ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ได้จัดทำขึ้นและลงชื่อรับรองรูปแผนที่ว่าถูกต้อง และได้ร่วมกันแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ได้ที่ดินเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ ใช้อำนาจตามกฎหมายในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ ๒ ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑๐ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินใหม่ให้กับจำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๓๐๓ โดยไม่สอบสวนหรือตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อแบ่งแยกที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายที่ดินหรือไม่ จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๑๐ ใช้อำนาจ ตามมาตรา ๗๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินในการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง มาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ และโจทก์ทั้งสองได้แจ้งจำเลยที่ ๑๑ ให้ดำเนินการเพิกถอนบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทน บันทึกขอแก้ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม และโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ แล้ว แต่จำเลยที่ ๑๑ เพิกเฉย การที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้บันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๓๔ และบันทึกขอแก้ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ ตกเป็นโมฆะและเพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ หรือให้จำเลยที่ ๑ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ ดังกล่าว เนื้อที่ ๒๐๑ ตารางวา คืนโจทก์ที่ ๑ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดคนร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองสามารถออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดคนร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนกรณีคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ตกลงซื้อขายหรือให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมแบบมีค่าตอบแทนในที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๖๒ ตารางวา ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง หรือตกลงซื้อขายหรือให้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแบบมีค่าตอบแทนในที่ดินแปลงด้านทิศเหนือของคลองชลประทานทั้งแปลงซึ่งมีเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ตามที่จำเลยที่ ๑ ให้การ นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมและการออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทางพิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอกคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเพื่อเยียวยาความเสียหายตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้โดยที่ศาลยุติธรรมหาได้มีอำนาจเช่นนั้นไม่ เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ เนื้อที่ ๓ ไร่ ๖๒ ตารางวา ต่อมา โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงและยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมโดยแบ่งออกเป็นสองแปลง แปลงที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ เนื้อที่ ๖๒ ตารางวา ส่วนแปลงคงเหลือทั้งหมดเป็นของโจทก์ที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ สมคบกันหลอกลวงรังวัดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เพิ่มขึ้นเป็นเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา รวมทั้งปกปิดและหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่จำเลยที่ ๓ จัดทำขึ้นด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อเป็นหลักฐานการแบ่งแยกที่ดินและแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินให้ตรงกับที่ได้รังวัด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๙ ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๙ หลอกลวงให้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนกับบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ทำขึ้นด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นหลักฐานในการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เพียง ๖๒ ตารางวา แท้จริงแล้วเป็นบันทึกข้อตกลงที่ให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมเพิ่มขึ้นอีก ๒๐๑ ตารางวาโดยไม่มีค่าตอบแทนจำเลยที่ ๕ หลอกลวงให้ลงลายมือชื่อรับรองรูปแผนที่ว่าถูกต้อง การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึง ที่ ๙ ทำให้จำเลยที่ ๑ ได้ที่ดินเพิ่มโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑๐ ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่หน้าที่โดยทุจริต ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของบันทึกข้อตกลงว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาจริงหรือไม่ โจทก์ที่ ๒ สามีโจทก์ที่ ๑ ให้ความยินยอมในการยกที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้หรือไม่ การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๓๐๓ เนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ทั้งสองทราบความจริงได้ขอให้จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่คลาดเคลื่อน เพิกถอนบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนและบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยที่ ๑๐ และที่ ๑๑ เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่านิติกรรมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนแบบไม่มีค่าตอบแทนในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๓๔ และบันทึกขอแก้บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ และเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๓๐๓ หรือให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๐๓ เนื้อที่ ๒๐๑ ตารางวา คืนโจทก์ที่ ๑ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การโดยสรุปว่า เมื่อมีการตกลงซื้อขายที่ดินเฉพาะแปลงทางด้านทิศเหนือ เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่จดทะเบียนซื้อขายให้ อ้างว่าต้องเป็นการซื้อขายทั้งแปลงหรือต้องรังวัดให้ทราบเนื้อที่จำนวนแน่นอน โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ จึงทำบันทึกข้อตกลงให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว โดยกะประมาณเนื้อที่ที่ซื้อขายกันว่าน่าจะมีจำนวน ๖๒ ตารางวา และระบุให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน ๖๒ ส่วน และครอบครองที่ดินจนถึงปัจจุบันโดยมิได้มีการโต้แย้ง ต่อมามีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงทำคำขอโดยระบุเนื้อที่ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จำนวน ๖๒ ตารางวา ตามเดิมก่อน หากรังวัดได้เนื้อที่เท่าไรสามารถทำให้ตรงกับความเป็นจริงได้ เมื่อรังวัดแล้วปรากฏว่า ที่ดินของจำเลยที่ ๑ มีเนื้อที่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา โจทก์ที่ ๑ จึงตกลงทำบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามความเป็นจริงโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์และไม่เคยหลอกลวงโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ ให้การทำนองเดียวกันว่า ปฏิบัติราชการโดยสุจริตและชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย มิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ หลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้โดยมุ่งประสงค์ให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้รับรองและคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ตกลงแบ่งแยกที่ดินหรือให้จำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๖๒ ตารางวาตามที่โจทก์ทั้งสองอ้าง หรือ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา ตามที่จำเลยที่ ๑ ให้การไว้เสียก่อน ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวิไลวรรณ มามี ที่ ๑ นายบุญเชิด มามี ที่ ๒ โจทก์นางจุไร ชื่นสุวรรณ ที่ ๑ นางสิริพร สุ่มสกุล ที่ ๒ นายจรัญ วิทวัสการเวช ที่ ๓ นางรัชฎาพร รักษาแก้ว ที่ ๔ นางสาวปุณยพร จันที ที่ ๕ นายชัยยุทธ ตู้ทองคำ ที่ ๖ นางสาวศิรดา วรวงษ์ ที่ ๗ นางชฎาพร โกสุมาศ ที่ ๘ นางทรายทอง โพธิ์กีรติกุล ที่ ๙ นายสุพจน์ สุวรรณโชติ ที่ ๑๐ นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ที่ ๑๑ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share