คำวินิจฉัยที่ 57/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๗/๒๕๕๕

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดกระบี่
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกระบี่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นายวันโชค ลิ่มบุตร ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายก๋วน ลิ่มบุตร โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลเหนือคลอง จำเลย ต่อศาลจังหวัดกระบี่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๗/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ น.ส.๓ เลขที่ ๗๑๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ต่อมาโจทก์ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปยื่นต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่เพื่อทำการออกรังวัดโฉนดที่ดิน และวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินออกรังวัดสำรวจพิสูจน์ที่ดินข้างเคียงและปักหลักเขตที่ดินถูกต้อง มิได้รุกล้ำแนวเขตที่ดินแปลงข้างเคียงหรือสาธารณประโยชน์ แต่เนื่องจากที่ดินทางด้านทิศตะวันออกของโจทก์จดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยได้คัดค้านว่าโจทก์รุกล้ำเข้าไปในทางดังกล่าวกว้าง ๗ เมตร ซึ่งความจริงแล้วทางมีความกว้าง ๓ เมตร โจทก์มิได้รุกล้ำแต่อย่างใด เมื่อมีคำคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถรังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ขอให้จำเลยเพิกถอนคำคัดค้านและลงนามรับรองแนวเขตที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๗๑๘ ด้านทิศตะวันออกของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ โดยให้ปักหลักเขตที่ดินห่างจากต้นยางพาราของโจทก์ ๑ เมตร ยาวตลอดแนวถนนลูกรัง และให้ห่างจากขอบถนนลาดยาง ๑ เมตร ยาวตลอดแนวถนนลาดยาง และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลยุติธรรม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินแปลงพิพาทเดิมนายก๋วน ลิ่มบุตร ได้สละสิทธิครอบครองด้วยการอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ มีความกว้างตลอดเส้นทาง ๗ เมตร และประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรตลอดมา การคัดค้านรังวัดจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่โจทก์จากการที่เจ้าหน้าที่ที่ดินออกรังวัดโฉนดที่ดิน แล้วจำเลยไม่รับรองแนวเขตให้ตามอำนาจหน้าที่ จึงเป็นกรณีโจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกระบี่พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแลทางสาธารณประโยชน์ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของฝ่ายปกครอง โดยจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายก๋วน ลิ่มบุตร ซึ่งได้สละที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มีความกว้างตลอดเส้นทาง ๗ เมตร และประชาชนได้ใช้ร่วมกันเป็นทางสัญจรตลอดมาก็ตาม แต่โจทก์ได้โต้แย้งว่าทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกที่อยู่ในความดูแลของจำเลยมีความกว้าง ๓ เมตร ไม่ใช่กว้าง ๗ เมตร ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยเพิกถอนคำขอคัดค้านและลงนามรับรองแนวเขตที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๗๑๘ ด้านทิศตะวันออกของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ รวมทั้งคำขออื่นๆ ของโจทก์ได้หรือไม่ นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาที่ดินพิพาทส่วนที่รุกล้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่โจทก์อ้างหรือจำเลยอ้างเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนภายในท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดอำนาจหน้าที่หลายประการรวมถึงอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติ ตามข้อ ๔ (๒) และข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๔๔ ดังนั้น การที่จำเลยคัดค้านการนำรังวัดปักเขตของโจทก์ จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เลขที่ ๗๑๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๓๙ ไร่๒ งาน ๕๐ ตารางวา ไปยื่นต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ เพื่อขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน และโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสำรวจพิสูจน์ที่ดินข้างเคียง แต่เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกจดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยได้คัดค้านการนำรังวัดปักหลักเขตของโจทก์ว่ารุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ยอมลงนามรับรองแนวเขตให้กับโจทก์ ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถรังวัดออกโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ได้ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำขอคัดค้าน และลงนามรับรองแนวเขตที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๗๑๘ ด้านทิศตะวันออกของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ โดยให้ปักหลักเขตที่ดินห่างจากต้นยางพาราของโจทก์ ๑ เมตร ยาวตลอดแนวถนนลูกรังและให้ห่างจากขอบถนนลาดยาง ๑ เมตรยาวตลอดแนว และให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้จำเลยเพิกถอนคำขอคัดค้านหรือให้จำเลยกระทำการตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อหาการกระทำละเมิดและแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลหรือนิติบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้โดยตรง เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบกับมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ) เลขที่ ๗๑๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลเหนือคลอง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๓๙ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา โจทก์ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปยื่นต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่เพื่อทำการรังวัดออกโฉนด แต่ถูกจำเลยคัดค้านการรังวัดและไม่ยอมลงนามรับรองแนวเขตที่ดินทางด้านทิศตะวันออก อ้างว่าโจทก์รุกล้ำเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย ทั้งที่โจทก์ไม่ได้รุกล้ำแต่อย่างใด ขอให้จำเลยเพิกถอนคำคัดค้านและลงนามรับรองแนวเขตที่ดินและให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายก๋วน ลิ่มบุตร ได้สละสิทธิครอบครองด้วยการอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มีความกว้างตลอดเส้นทาง ๗ เมตร และประชาชนได้ใช้ร่วมกันเป็นทางสัญจรตลอดมา การคัดค้านรังวัดจึงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่รุกล้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวันโชค ลิ่มบุตร ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายก๋วน ลิ่มบุตร โจทก์ เทศบาลตำบลเหนือคลอง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share