คำวินิจฉัยที่ 51/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๑/๒๕๕๕

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดศรีสะเกษ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดศรีสะเกษโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๓ นางบุญยืน มโนรัตน์ ที่ ๑ นางสาวปานจันทร์ บริบูรณ์ ที่ ๒ ว่าที่ร้อยตรี จักรวาล บริบูรณ์ ที่ ๓ นางสมร ศรีเลิศ ที่ ๔ นางมะลีจันทร์ สีสัน ที่ ๕นางคำพันธ์ สีสันที่ ๖ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ ในฐานะนายอำเภอปรางค์กู่ จำเลย ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๓๑๐/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์ทั้งหกเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่หมู่บ้านโนนดั่ง หมู่ ๗ ตำบลพิมาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ดินประมาณ ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวา โดยโจทก์ทั้งหกแบ่งกันครอบครองทำประโยชน์เป็นสัดส่วนโดยรับมรดกมาจากบิดามารดามาตั้งแต่ปี ๒๔๙๔ จนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ ๑ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๘๖ ตารางวา โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินร่วมกันเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๑๘ ตารางวา โจทก์ที่ ๔ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่๓๖ ตารางวา โจทก์ที่ ๕ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๖๕ ตารางวา และโจทก์ที่ ๖ ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม๒๕๔๘ จำเลยในฐานะนายอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่ออธิบดีกรมที่ดินผ่านเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขาปรางค์กู่ โดยนำช่างรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “แปลงป่าช้าบ้านโนนดั่ง”รังวัดรุกล้ำที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ทั้งหกครอบครองทำประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้ครอบครองที่ดิน ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวาตามสัดส่วนของแต่ละคน และขอให้บังคับจำเลยระงับหรือเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รังวัดทับที่ดินของโจทก์ทั้งหกดังกล่าว จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองและไม่มีเอกสารสิทธิเพื่อแสดงการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหก ที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันการรังวัดของจำเลยกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายการที่โจทก์ทั้งหกมิได้มีสิทธิครอบครองแต่อ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการบุกรุกและยึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิยกระยะเวลาครอบครองขึ้นต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เพิกถอนคำสั่งในการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกคำสั่งรังวัดทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งตาม มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งหกอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่รวมกันประมาณ ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวา ได้รับมรดกมาจากบิดามารดาและครอบครองติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยนำรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ป่าช้าบ้านโนนดั่ง”โจทก์ทั้งหกเห็นว่าจำเลยกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลระงับหรือเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การที่ศาลจะมีคำสั่งระงับหรือไม่ระงับ เพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ศาลจะต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหกหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๙๔๘/๒๕๑๖ มอบอำนาจให้นายอำเภอเป็นผู้ยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยในฐานะนายอำเภอปรางค์กู่ จึงได้ยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ แปลง “ป่าช้าบ้านโนนดั่ง” เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ประมวลกฎหมายที่ดินพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๖ วรรคสอง เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่นำรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินดังกล่าว จึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและการดำเนินกิจการทางปกครองตามนัยมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๕๐ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหกหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่งในคดีเท่านั้น และแม้การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในประเด็นนี้ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและนำบทบัญญิติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งหกอ้างว่า โจทก์ทั้งหกครอบครองที่ดินมือเปล่าซึ่งรับมรดกมาจากบิดามารดา เนื้อที่ดินประมาณ ๒๒ ไร่ ๓ งาน๕๓ ตารางวา โดยแบ่งกันครอบครองทำประโยชน์เป็นสัดส่วน ได้ถูกจำเลยนำช่างรังวัดที่ดินเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “แปลงป่าช้าบ้านโนนดั่ง” รุกล้ำที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ทั้งหกครอบครองทำประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามสัดส่วนของแต่ละคนและให้จำเลยระงับหรือเพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รังวัดทับที่ดินของโจทก์ทั้งหกดังกล่าว ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การรังวัดของจำเลยกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหก ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางบุญยืน มโนรัตน์ ที่ ๑ นางสาวปานจันทร์บริบูรณ์ ที่ ๒ ว่าที่ร้อยตรี จักรวาล บริบูรณ์ ที่ ๓ นางสมร ศรีเลิศ ที่ ๔ นางมะลีจันทร์ สีสัน ที่ ๕ นางคำพันธ์ สีสัน ที่ ๖ นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ ในฐานะนายอำเภอปรางค์กู่ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share