แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๓/๒๕๕๕
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ นางวนิดา ศรีสอน ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐๕ คน โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๓๒๑-๓๔๒๑/๒๕๕๓ และที่ ๔๔๖๙-๔๔๗๒/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๖๗๘๓-๖๘๗๕/๒๕๕๓ ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าเป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การจัดหาผลประโยชน์ของจำเลยคือองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเดิมเป็นองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. ๒๔๘๘ ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๖ จึงมีการโอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ขององค์การค้าของคุรุสภาไปเป็นของจำเลย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ จำนวน ๒ ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ให้ปรับในอัตราค่าจ้างร้อยละสามเท่ากันทุกอัตรา และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่เพิ่มร้อยละสามตามอัตราจ้างใหม่อีก ๒ ขั้น ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ เป็นต้นไป และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ ให้ปรับในอัตราค่าจ้างร้อยละห้าของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป จำเลยจึงต้องปรับเงินเดือนขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าจำนวน ๒ ครั้ง แต่จำเลยกลับไม่ดำเนินการปรับเงินเดือนขึ้นให้แก่โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ ข้อ ๑๗ เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติมาตลอด ขอให้บังคับจำเลยปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าตามมติคณะรัฐมนตรีกับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับจากวันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๑๑ ที่ ๒๗ ที่ ๓๐ ที่ ๓๓ ที่ ๓๘ ที่ ๕๖ ที่ ๖๐ ที่ ๖๕ และที่ ๙๑ รวม ๑๒ คน ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ดังกล่าวออกจากสารบบความ คงเหลือโจทก์เก้าสิบสามคนจำเลยให้การโดยสรุปว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่โจทก์กล่าวอ้าง มิใช่กฎหมายที่มีผลบังคับใช้และมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ตามฟ้อง และองค์การค้าของจำเลยมิใช่รัฐวิสาหกิจ จำเลยจึงไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว อีกทั้งบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ ข้อ ๑๗ ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดเพียงให้องค์การค้าของจำเลยพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้นๆ เท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดระบุบังคับให้ต้องอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี การปรับเงินเดือนจึงอยู่ในดุลยพินิจขององค์การค้าของจำเลยที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่เหตุผลความจำเป็นโดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความดีความชอบตามมติคณะรัฐมนตรีประกอบ เมื่อองค์การค้าของจำเลยขาดสภาพคล่อง ประกอบกิจการขาดทุนตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ไม่อยู่ในวิสัยที่จะมีรายได้จากผลประกอบการมาจัดทำงบประมาณเพื่อการปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ จึงเป็นเหตุสมควรเพียงพอที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย คำฟ้องของโจทก์ทั้งเก้าสิบสามเคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน เนื่องจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะในด้านการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา สื่อการเรียนการสอนด้านการศึกษา และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแก่สถานศึกษาทั้งองค์กรของรัฐหรือภาคเอกชนและบุคคลทั่วไป จึงถือว่าองค์การค้าของจำเลยดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจในการจัดจ้างบริการสาธารณะด้านการจัดการศึกษาของจำเลย จึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ส่วนที่ฟ้องเรียกดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันเกิดสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิด จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง นอกจากนี้ จำเลยได้ออกข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ และข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้แบ่งแยกพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยออกเป็น ๒ ประเภท โดยข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้ พนักงานเจ้าหน้าที่หมายความว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ไม่รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย จึงเกิดข้อโต้แย้งหรือพิพาทระหว่างลูกจ้างขององค์การของจำเลยกับจำเลยในประเด็นที่ว่า ข้อบังคับฯ ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๖๖/๒๕๕๐ และถ้าศาลปกครองกลางฟังว่า ข้อบังคับฯ ดังกล่าวขัดต่อกฎหมายย่อมส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจของจำเลยในคดีนี้โดยตรง ประเด็นทั้งสองนี้มีความเกี่ยวพันกันโดยตรง จึงเห็นได้ว่าข้อบังคับฯ ดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่กำหนดให้ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามีอำนาจและหน้าที่ออกข้อบังคับและหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และมาตรา ๘๓ วรรคท้าย กำหนดว่า ให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การค้าของคุรุสภาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันอย่างเสรีได้ แสดงให้เห็นว่าลูกจ้างของจำเลยทั้งสองหน่วยงานหาได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกันไม่ การที่จำเลยไม่ปรับเงินเดือนค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหมดตามคำฟ้องโดยมีเหตุผลมาจากการมีผลประกอบการที่ขาดทุน แต่จำเลยได้ปรับเงินเดือนค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยอื่นที่ไม่ใช่พนักงานลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลย เห็นได้ชัดว่ามีกรณีข้อพิพาทโต้แย้งขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีพิพาทเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ศาลปกครองกลางได้รับพิจารณาไว้แล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ จะปรากฏว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการและส่วนหนึ่งของรายได้ที่จำเลยได้รับมาจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน แต่มูลเหตุแห่งการพิพาทคดีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ในฐานะลูกจ้างเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติในฐานะที่เป็นนายจ้าง จึงมีลักษณะเป็นการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการเรียกร้องให้จำเลยจัดสภาพการจ้างให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๒) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองทางด้านการศึกษา จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยมีโจทก์ทั้งเก้าสิบสามเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกมติดังกล่าว เพื่อให้จำเลยไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการปรับอัตราค่าจ้างให้กับโจทก์ต่อไป เมื่อจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งนอกจากจำเลยจะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว จำเลยก็จะต้องผูกพันที่จะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี โดยการออกประกาศหรือมีคำสั่งให้ปรับค่าจ้างให้กับโจทก์อีกด้วย หลังจากนั้นจึงได้จัดทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป การจัดทำข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วนั่นเอง เมื่อจำเลยไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่โจทก์ตามมติของคณะรัฐมนตรี โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี โดยการปรับค่าจ้างพร้อมเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และโดยที่การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวย่อมรวมถึงการที่จะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับการการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามมาตรา ๖๓ (๕) ประกอบมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ด้วย โดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นหลักเกณฑ์ภายในของฝ่ายบริหารที่กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ต้องถือปฏิบัติอันมีสภาพเป็นกฎ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะมีการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อไปจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามมาตรา ๘ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ส่วนที่ฟ้องเรียกดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิด จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเก้าสิบสามฟ้องว่า จำเลยไม่ดำเนินการปรับเงินเดือนขึ้นให้แก่โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ จำนวน ๒ ครั้ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ ข้อ ๑๗ เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ขอให้บังคับจำเลยปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบสามตามมติคณะรัฐมนตรีพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การทำนองว่า โจทก์ทั้งเก้าสิบสามไม่ใช่พนักงานลูกจ้างประเภทที่จะได้รับการปรับค่าจ้าง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเก้าสิบสามกับจำเลย ซึ่งจำต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า แต่เดิมโจทก์ทั้งเก้าสิบสามทำสัญญาเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหาประโยชน์ให้แก่คุรุสภาและอำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา โดยผลิต จำหน่ายและพัฒนาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน รับจ้างพิมพ์งานทั่วไปและข้อสอบ โดยไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใด และสามารถบริหารกิจการจนมีกำไร ต่อมาองค์การค้าของคุรุสภานายจ้างของโจทก์ทั้งเก้าสิบสามได้โอนไปอยู่ในสังกัดของจำเลยตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่ก็ยังคงมีวัตถุประสงค์และภารกิจเช่นเดิม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การดำเนินกิจการขององค์การค้าของคุรุสภาดำเนินกิจการเช่นเดียวกันกับเอกชนที่ผลิต จำหน่าย และพัฒนาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรมจนมีกำไร สามารถนำไปจัดสรรให้กับองค์การคุรุสภาได้ นอกจากนี้องค์การค้าของคุรุสภาก็มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเคยมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกันจนมีการทำบันทึกข้อตกลงกัน และเมื่อพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มิได้บัญญัติยกเว้นการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาบังคับใช้กับกิจการของจำเลย ทั้งบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวก็มิได้บัญญัติยกเว้นมิให้นำมาใช้บังคับกับหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะในลักษณะของจำเลยด้วยแล้ว จำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งโจทก์ทั้งเก้าสิบสามด้วย ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งเก้าสิบสามและจำเลยจึงมีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๒) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางวนิดา ศรีสอน ที่ ๑ กับพวกรวม ๙๓ คน โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ