คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14552/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยมีและใช้อาวุธปืน มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์คงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แต่ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงมีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับ ก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นได้
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เยาว์ไปโดยมีเจตนา จึงไม่ใช่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายจะหน่วงเหนี่ยวเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้กระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92, 277, 310, 317, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยแก้ไขคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม และวรรคสี่, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 371 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพกับฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืน จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 30 ปี 9 เดือน คำขอเพิ่มโทษให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 7 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 13 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 6 ปี 9 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่มีอยู่เพียงปากเดียว ทั้งเป็นเด็กหญิงอายุยังน้อย ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอเมื่อตกอยู่ในสภาพถูกข่มขู่บังคับโดยจำเลยกับพวกที่ใช้อาวุธปืนจี้เอาตัวขึ้นรถยนต์ไปจากที่พัก พาไปในสถานที่ต่าง ๆ ในเวลากลางคืนตลอดทั้งคืน ย่อมตกอยู่ในความกลัวยากที่จะหาทางหลุดพ้นขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยเฉพาะถูกจำเลยทำร้ายตลอดทางไม่ว่าด้วยคำพูดหรืออากัปกิริยาที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เห็นจำเลยพกอาวุธปืนอยู่ การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปที่ห้างสรรพสินค้า แล้วผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ขอให้พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยเหลือก็ดี หรือไม่หลบหนีในระหว่างเดินทางไปจังหวัดตราดก็ดี หรือจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนที่บ้านเพื่อนของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยข่มขู่บังคับผู้เสียหายที่ 1 ก็ดี จึงไม่อาจถือเป็นข้อพิรุธหรือข้อที่จะแสดงว่าผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจไปกับจำเลยและยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราโดยจำเลยไม่ต้องใช้อาวุธปืนจี้บังคับ ส่วนที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านมารดาของจำเลยรออยู่จนนายสุวิทย์บิดาของผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ตามไปพบโดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้หลบหนีหรือขอให้บุคคลใดช่วยเหลือ เป็นเหตุการณ์หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ใช่ข้อที่จะบ่งชี้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราโดยจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนจี้บังคับเช่นกัน เพราะอาจเป็นกรณีที่จำเลยต้องการพาผู้เสียหายที่ 1 ไปหาบิดามารดาของตนเพื่อช่วยหาทางเยียวยาแก้ไขการกระทำผิดของจำเลย ดังคำเบิกความของนายสุวิทย์บิดาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า วันรุ่งขึ้นหลังจากตามหาผู้เสียหายที่ 1 ไม่พบ พยานไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว บิดาของจำเลยโทรศัพท์ถึงพยานและไปหาพยานพาไปพบผู้เสียหายที่ 1 มีการเจรจากันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่นำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืน แต่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่เชื่อตามคำยืนยันของผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนจี้บังคับข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ และเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนการปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดข้อหานี้ต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำผิดคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนทั้งมาตราไม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ความในมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) เป็นมาตรา 277 วรรคสี่ (ที่แก้ไขใหม่) มีอัตราโทษเท่ากันก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามมาตรา 277 วรรคสี่ (ที่แก้ไขใหม่) และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่จำเลยจะไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) ที่โจทก์ฎีกาขอให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ และศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่มาด้วยจึงไม่ถูกต้องชัดเจน ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษในข้อหาความผิดนี้เสียใหม่
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยว กักขัง กระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ กับฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เยาว์ไปโดยมีเจตนาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายจะหน่วงเหนี่ยวเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้กระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คงจำคุกตลอดชีวิต ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำต่างกรรม จำคุก 5 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งรวมทั้งโทษในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุก 28 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share