แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงรวมแล้วต้องเป็นโทษจำคุก 35 ปี 9 เดือน แต่พิมพ์โทษรวมจำคุกจำเลยที่ 1 ผิดผลาดเป็น 30 ปี 9 เดือน ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบมาตรา 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 288, 289, 371, 376 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3078/2546 ของศาลชั้นต้น และริบอาวุธปืน ซองบรรจุกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน ซองพกปืน เมทแอมเฟตามีน รถจักรยานยนต์ และกระเป๋าสะพายของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ส่วนความผิดฐานอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 138 วรรคสอง, 140 วรรคสาม, 289 (2), 371 และ 376 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีหรือใช้อาวุธปืน ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืน ฐานพาอาวุธปืน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แม้ในชั้นพิจารณาจะให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่นำสืบพยานหักล้างเป็นอย่างอื่น ทั้งยังเบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจโทฉัตรชัยจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53 ด้วย) เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งเช่นกัน คงลงโทษฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 25 ปี รวมจำคุก 30 ปี 9 เดือน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีได้ นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3078/2546 ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืน ซองบรรจุกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน ซองพกปืน เมทแอมเฟตามีน และกระเป๋าสะพายของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาท รวมจำคุก 20 ปี และปรับ 1,600,000 บาท คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 1,066,666.67 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 โดยให้สายลับเป็นผู้ติดต่อนัดหมายกับจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์ จำเลยที่ 1 นัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ดให้แก่สายลับที่สะพานข้ามคลองชลประทานซึ่งเป็นที่เกิดเหตุคดีนี้ในเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันเกิดเหตุและได้ความจากพยานโจทก์ปากดาบตำรวจสมโภชน์ว่า ที่เกิดเหตุมืดมีแสงสว่างจากไฟฉายที่พยานกับพวกนำติดตัวไปด้วยเท่านั้น พฤติการณ์ในการกำหนดสถานที่และเวลาในการนัดหมายเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการลักลอบกระทำความผิด ทั้งความผิดฐานดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงมีโทษสูง ตามปกติของคนร้ายทั่วไปย่อมปกปิดการกระทำของตนไม่ให้บุคคลภายนอกร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดของตน การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปจอดที่บริเวณที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์รออยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ลงจากรถเดินไปส่งมอบเมทแอมเฟตามีนและรับเงินจากสายลับเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นโดยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวด้วย ประกอบกับปรากฏตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 2 รับสารภาพในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ที่จำเลยที่ 2 เบิกความอ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจนำบันทึกการจับกุม และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนมาให้ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความให้ฟังและไม่ให้จำเลยที่ 2 อ่านข้อความโดยบอกแต่เพียงว่า หากลงลายมือชื่อในเอกสารแล้วจะปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ไปนั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถอ่านหนังสือไทยได้ การที่จำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมจำเลยที่ 1 ขณะไปส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับที่ทำการล่อซื้อและถูกจับกุมมาสถานีตำรวจพร้อมกับจำเลยที่ 1 ด้วยข้อหาความผิดร้ายแรงเช่นนี้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 2 ย่อมมีโอกาสเห็นและอ่านข้อความในเอกสารได้ ข้ออ้างที่ว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้อ่าน โดยบอกจำเลยที่ 2 ว่า ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารไปเลยแล้วกลับบ้านได้ จำเลยที่ 2 จึงได้ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยไม่ทราบข้อความในเอกสาร เป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้างและไม่สมเหตุผลไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 25 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับโทษจำคุก 35 ปี 9 เดือน และปรับ 800,000 บาท แต่ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็น 30 ปี 9 เดือน และปรับ 800,000 บาท ซึ่งน่าเชื่อว่าเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาดเนื่องจากหมายจำคุกจำเลยที่ 1 ในสำนวนระบุโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 35 ปี 9 เดือน ดังนั้น ต้นร่างคำพิพากษาน่าจะพิมพ์หรือเขียนรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องแล้ว มิฉะนั้นหมายจำคุกจะต้องระบุรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ผิดพลาดเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 35 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7