คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7462/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนซึ่งโจทก์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยกับ พ. คัดค้านนั้น มีประเด็นสำคัญในคดีเพียงว่า ผู้ใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้พิพาทเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรม แม้โจทก์จำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็ไม่ผูกพันคดีนี้ และศาลในคดีนี้ก็พิจารณาพิพากษาได้ว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกถูกเพิกถอนไปแล้วหรือไม่
พินัยกรรมฉบับแรก ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 4 แปลง และบ้านให้แก่จำเลยกับพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม และระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดก พินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินอีก 3 แปลง ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมฉบับแรกให้พี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่ และกรณีไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกัน เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมฉบับที่ 2 แต่เป็นการที่ผู้ตายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแต่ละรายไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ โจทก์แม้เป็นทายาทโดยธรรมแต่ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเติมส่งมอบทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 3183, 5086, 20374, 1115 และ 113677 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมตามส่วน หากจำเลยไม่ดำเนินการขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และนายไพบูลย์ เป็นบุตรของนายเติม เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2534 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับแรกแบบเอกสารฝ่ายเมือง ยกทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 5086 ตำบลคลองหนึ่ง (ท่าโขลง) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) เลขที่ 8448 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เลขที่ 3183 ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) เลขที่ 1115 ตำบลบางหวายใต้ (คลองซอยที่ 1 ฝั่งตะวันตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และบ้านเลขที่ 4/6 หมู่ที่ 17 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้แก่จำเลย จ่าสิบตำรวจลักษณ์ นางน้อม นายเจียก และนายเต็ม ซึ่งเป็นพี่น้องของเจ้ามรดกโดยไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรม และแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวทั้งห้าคนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับที่ 2 ยกทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9010 และ 9009 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และเลขที่ 1213 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ให้แก่พี่น้องทั้งห้าคนเช่นเดียวกับพินัยกรรมฉบับแรก และให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับพินัยกรรม ต่อมาเจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 และที่ 4 อีกสองฉบับ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับที่ 4 ต่อศาลแพ่งธนบุรี โดยมีนายไพบูลย์บุตรของเจ้ามรดกยื่นคำคัดค้านเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และจำเลยยื่นคำคัดค้าน เป็นผู้คัดค้านที่ 2 คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1115 ตามพินัยกรรมฉบับแรกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 113677 ตำบลบางหวายใต้ (คลองซอยที่ 1 ฝั่งตะวันตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 20374 ตำบลคลองหนึ่ง (ท่าโขลง) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ตามสำเนาโฉนดที่ดิน เฉพาะส่วนของเจ้ามรดกซึ่งไม่ได้เป็นทรัพย์สินตามข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับที่ 1 และที่ 2 ได้ถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนไปแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 3183, 5086, 1115 และ113677 หรือไม่ ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินตามพินัยกรรม ฉบับแรกลงวันที่ 21 มิถุนายน 2534 และพินัยกรรมฉบับที่ 2 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 ในพินัยกรรมฉบับแรกผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5086, 8448, 3183 และ 1115 และบ้านเลขที่ 4/6 หมู่ที่ 17 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้แก่จำเลย จ่าสิบตำรวจลักษณ์ นางน้อม นายเจียก และนายเต็ม ซึ่งเป็นพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรมฉบับแรก และในพินัยกรรมฉบับแรกนั้นเองผู้ทำพินัยกรรมได้ระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดกด้วย ส่วนพินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9010, 9009 และ 1213 ให้แก่บุคคลซึ่งเป็นพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรมรวม 5 คน ดังเช่นพินัยกรรมฉบับแรกและไม่ให้บุคคลอื่นรับมรดก โดยที่พินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกหรือข้อกำหนดใดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงยังถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่และกรณีก็ไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกันแต่ประการใด เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมฉบับที่ 2 แต่เป็นเรื่องที่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแต่ละรายการไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ ที่โจทก์อ้างว่า ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าพินัยกรรมฉบับแรกได้ถูกเพิกถอนไปแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 จำเลยจึงต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับแรกให้โจทก์นั้น เห็นว่า ประเด็นที่สำคัญในคดีดังกล่าวคือใครสมควรเป็นผู้จัดการมรดกระหว่างโจทก์ นายไพบูลย์ หรือจำเลย ตามที่แต่ละฝ่ายกล่าวอ้าง มิได้พิพาทเกี่ยวกับเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรม คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแม้โจทก์จำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกันก็ไม่ผูกพันคดีนี้ และศาลในคดีนี้ก็พิจารณาพิพากษาได้ว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกถูกเพิกถอนไปแล้วหรือไม่ สำหรับโจทก์แม้เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของผู้รับพินัยกรรมก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับแรก ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 3183, 5086, 1115 และ 113677 โจทก์คงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 20374 ตำบลคลองหนึ่ง (ท่าโขลง) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) แม้เป็นทรัพย์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจึงเป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่โจทก์และทายาทโดยธรรมอื่น แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนแล้ว จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ได้ โจทก์คงมีสิทธิในค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามส่วนของโจทก์ หากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับค่าทดแทนการเวนคืนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็มีหน้าที่ต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share