คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6839/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มีสาระสำคัญว่า ขออายัดเงินปันผลและเงินอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น นั้น ได้แยกการอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ เงินปันผลส่วนหนึ่ง และเงินอื่นๆ นอกจากนั้นอีกส่วนหนึ่ง ในส่วนของเงินปันผล พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการขออายัดคดีนี้ บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามจำนวนหุ้นของสมาชิกแต่ละคนที่ชำระแล้ว เงินปันผลจึงเป็นเงินที่ผู้คัดค้านต้องจ่ายแก่สมาชิกทุกคนเป็นรายปีทุกๆ ปีขณะที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ส่วนเงินอื่นๆ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (2) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีจ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้กระทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีแต่ละปี เงินเฉลี่ยคืนจึงเป็นการจัดสรรจ่ายให้แก่เฉพาะสมาชิกบางคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ และจ่ายเฉพาะในปีที่ทำเท่านั้น จึงเป็นการจ่ายให้เป็นการเฉพาะในแต่ละครั้ง ไม่อาจจ่ายเป็นประจำทุกปีเสมอไปได้ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 เพราะ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นของสมาชิกนั้น เว้นแต่สมาชิกภาพนั้นจะสิ้นสุดลง ซึ่งไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และไม่ทราบล่วงหน้าด้วยว่าจะต้องจ่ายเมื่อใด จึงเป็นการจ่ายเฉพาะในแต่ละครั้งและไม่อาจจ่ายเป็นประจำปีรายได้เช่นกัน ดังนั้น คำขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดในข้างต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดรวมถึงเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 335,270.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 312,364.44 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระแทน แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ขออายัดเงินปันผลและเงินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่มีสิทธิเรียกร้องจากผู้คัดค้านทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น โดยห้ามมิให้ผู้คัดค้านจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่ผู้ใด แต่ขอให้มอบเงินอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่าย
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนและบังคับผู้คัดค้านให้ปฏิบัติตามคำสั่งอายัด
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ โจทก์และผู้คัดค้านแถลงรับกันว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ผู้คัดค้านได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2548 แจ้งอายัดเงินปันผลและเงินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น โดยห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่ผู้ใด แต่ให้มอบเงินอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใน 7 วัน นับแต่วันถึงกำหนดจ่าย ปี 2549 ผู้คัดค้านส่งเงินปันผลประจำปี 2548 ของจำเลยที่ 1 จำนวน 6,799 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2550 ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ทราบว่า จำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นสมาชิกผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 และไม่มีเงินส่วนได้ที่จะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยผู้คัดค้านนำเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 109,200 บาท หักชำระหนี้เงินกู้สามัญจำนวน 428,000 บาท ที่ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านตามระเบียบของผู้คัดค้านและตามคำยินยอมของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ในหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญ วันที่ 25 มกราคม 2550 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้คัดค้าน ขออายัดเงินเฉลี่ยคืนค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 คู่ความคงโต้เถียงกันว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่มีสิทธิได้รับจากการลาออกแล้วหรือไม่ โดยโจทก์แถลงว่า คำว่า “เงินอื่น ๆ” ตามหนังสือแจ้งอายัดรวมถึงค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้คัดค้านแถลงว่า หนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุเพียง ขออายัดเงินปันผลประจำปีและเงินอื่น ๆ โดยไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าเงินอื่นๆ นั้นเป็นเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ตามระเบียบปฏิบัติของผู้คัดค้าน กรณีอายัดเงินค่าหุ้นของสมาชิกเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องมีหนังสืออายัด ระบุเงินปันผลหรือเงินค่าหุ้นไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อหนังสือแจ้งอายัดดังกล่าวไม่แจ้งชัดว่าอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ผู้คัดค้านสามารถหักเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระแก่ผู้คัดค้านได้ตามระเบียบของผู้คัดค้านและตามความยินยอมของจำเลยที่ 1 ในหนังสือสัญญากู้สำหรับเงินกู้สามัญ ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดการไต่สวนคำร้องดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งมอบเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 109,200 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วัน เพื่อทำการบังคับคดีต่อไป มิฉะนั้นจะถูกยึดทรัพย์ จับ จำขังหรือบังคับคดีตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่า คำขออายัดเงินปันผลและเงินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งไปถึงผู้คัดค้าน มีผลครอบคลุมถึงเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 สมาชิกของผู้คัดค้านที่ได้มาเมื่อพ้นสมาชิกภาพหลังจากแจ้งอายัดแล้วด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อความในหนังสือแจ้งอายัดที่มีสาระสำคัญระบุว่า “…ขออายัดเงินปันผลและเงินอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ทุกปีจนกว่าชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น โดยห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายเงินดังกล่าวแก่ผู้ใด แต่ขอให้ส่งมอบเงินอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดจ่าย จนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น…” ตามข้อความดังกล่าวได้แยกการอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ออกได้เป็น 2 ส่วน กล่าวคือ เงินปันผลส่วนหนึ่งและเงินอื่น ๆ นอกจากนั้นอีกส่วนหนึ่ง ในส่วนของเงินปันผล พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการขออายัดคดีนี้ บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเป็นเงินปันผลตามจำนวนหุ้นของสมาชิกแต่ละคนที่ชำระแล้ว เงินปันผลจึงเป็นเงินที่ผู้คัดค้านต้องจ่ายแก่สมาชิกทุกคนเป็นรายปีทุก ๆ ปีขณะที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ดังนั้นตามหนังสือแจ้งอายัด ในส่วนการอายัดเงินปันผลจึงมีสาระสำคัญเป็นว่า “…ขออายัดเงินปันผลของจำเลยที่ 1 ทุกปีจนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น…” สำหรับในส่วนของเงินอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 (2) ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้สหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีจ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้กระทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีแต่ละปี เงินเฉลี่ยคืนจึงเป็นการจัดสรรจ่ายให้แก่เฉพาะสมาชิกบางคนที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ และจ่ายเฉพาะในปีที่ทำเท่านั้น จึงเป็นการจ่ายให้เป็นการเฉพาะแต่ละครั้ง ไม่อาจจ่ายเป็นประจำทุกปีเสมอไปได้ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 เพราะพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง (เดิม)ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องในค่าหุ้นของสมาชิกนั้น เว้นแต่สมาชิกภาพนั้นจะสิ้นสุดลง ซึ่งไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และไม่ทราบล่วงหน้าด้วยว่าจะต้องจ่ายเมื่อใด จึงเป็นการจ่ายเฉพาะแต่ละครั้งและไม่อาจจ่ายเป็นประจำรายปีได้เช่นกัน ดังนั้น คำขออายัดในส่วนเงินอื่นๆ เมื่อสรุปสาระสำคัญของข้อความในหนังสือแจ้งอายัดแล้วจึงเป็นว่า “…ขออายัดเงินอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 จนกว่าจะชำระหนี้ตามหมายบังคับคดีเสร็จสิ้น…” และเห็นว่า คำขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้แจ้งอายัดรวมถึงเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ในการแจ้งขออายัดกรณีอื่น ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ระบุไว้ชัดเจนว่าขออายัดทรัพย์สินอะไร แต่หนังสือแจ้งอายัดฉบับแรกไม่เป็นเช่นนั้น เห็นว่า การระบุทรัพย์สินที่จะอายัดไว้ในหนังสือแจ้งขออายัดโดยชัดเจนเป็นการดี แต่การที่จะระบุไว้กว้าง ๆ แต่ครอบคลุมพอที่จะปฏิบัติตามได้ก็ไม่ได้ผิดต่อกฎหมายและก่อให้เกิดการขัดข้องในการปฏิบัติแต่อย่างใด และที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดอีกฉบับหนึ่ง ก็ไม่เป็นผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของหนังสือแจ้งอายัดฉบับแรก ฎีกาของผู้คัดค้านข้ออื่น ๆ ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share