แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำการไม่ให้ผลของสัญญาบรรลุผลตามความประสงค์ของคู่สัญญาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอให้ศาลบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิมาฟ้องขอให้เลิกสัญญาโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันแจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 ให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ห้างจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายห้อง นางอุบล นางสาวเยาวนุช นายวิทยากร นางประทุม นางจิรามล และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วน ต่อมานายวิทยากรลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 แล้วโอนหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์ นายห้อง นางฉลอง นางอุบล นางสาวเยาวนุช นางประทุม และนางจิรามล ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีกฝ่ายหนึ่ง ทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าไปเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องผ่อนชำระหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสงขลา ไม่น้อยกว่าเดือนละ 150,000 บาท จนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน โดยจะต้องรายงานให้โจทก์กับพวกที่เป็นคู่สัญญาทราบทุก 6 เดือน แล้วยังต้องทบทวนจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระให้แก่ธนาคารดังกล่าวทุก 5 ปี และชี้แจงในเชิงหารือโจทก์กับพวกที่เป็นคู่สัญญาทุกปีจนกว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะชำระหนี้ครบถ้วนโดยให้โจทก์กับพวกที่เป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจากนายห้อง นางอุบล และนางสาวเยาวนุช มาเป็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้วคัดชื่อโจทก์กับพวกออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 โจทก์กับพวกที่เป็นคู่สัญญาได้รับเงินค่าตอบแทนคนละ 6,000 บาท ต่อเดือน จากจำเลยทั้งสี่ตลอดมา ห้างจำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสงขลา เป็นเงินประมาณ 8,000,000 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันแจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 ให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ นายห้อง นางอุบล นางสาวเยาวนุช นางประทุม และนางจิรามล เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกัน ตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง การที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้จึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 390 คือต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยลำพังได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำการไม่ให้ผลของสัญญาบรรลุตามความประสงค์ของคู่สัญญาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย โจทก์จึงใช้สิทธิทางศาลได้นั้น หากกรณีเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอให้ศาลบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่ไม่อาจใช้สิทธิมาฟ้องขอให้เลิกสัญญาโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ