คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคาร ก. ตกลงให้นำหนี้ของบริษัท น. และบริษัท ท. มารวม และให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินโดยมีโจทก์เป็นผู้กู้ ส่วนบริษัท น. และบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อพิเคราะห์บัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้น โจทก์ได้บันทึกบัญชีว่า บริษัท น. และบริษัท ท. เป็นลูกหนี้เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้บันทึกดอกเบี้ยรับไว้ในบัญชี ตามสมุดรายวันทั่วไปของโจทก์ มีรายได้ดอกเบี้ยรับเงินกู้ระยะยาวจากบริษัท น. และบริษัท ท. อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินและข้อมูลทางบัญชีเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการของโจทก์ พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าโจทก์ให้บริษัท น. และบริษัท ท. ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นข้อที่โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) เลขที่ 5110060/6/100099 ถึง 100122 รวม 24 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.5 สป 1/68/2548 และงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนางอาศยา ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบัญชีเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด เป็นเงิน 55,580,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ซื้อเครื่องจักร ตามสัญญากู้เงิน ในวันเดียวกันนั้นบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด เป็นเงิน 8,700,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ซื้อเครื่องจักร ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวบริษัททั้งสองไม่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด มีหนังสือทวงถามโจทก์และบริษัทนำรุ่งอุตสาหรรม จำกัด ให้ชำระหนี้แก่ธนาคารตามหนังสือทวงถาม โดยที่โจทก์ บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทนานมีอุตสาหกรรม จำกัด ยังมิได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเช่นกัน จึงเจรจาขอชำระหนี้โดยวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2535 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด มีหนังสือแจ้งรายละเอียดวงเงินสินเชื่อใหม่ให้แก่โจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ยืมของโจทก์ บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทนานมีอุตสาหกรรม จำกัด ตามหนังสือแจ้งรายละเอียดวงเงินสินเชื่อ โจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ในวงเงิน 109,000,000 บาท ตามสัญญากู้เงิน (รับเงินกู้เป็นงวด) ฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2535 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของทั้งสามบริษัทดังกล่าวข้างต้น โดยโอนหนี้ทั้งหมดมายังโจทก์ เป็นการชำระคืนเงินกู้ยืมของโจทก์ตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 เป็นเงิน 23,721,120 บาท ชำระคืนเงินกู้ยืมของบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด ตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 เป็นเงิน 8,700,000 บาท และชำระคืนเงินกู้ของบริษัทนานมีอุตสาหกรรม จำกัด เป็นจำนวน 45,000,000 บาท ซึ่งบริษัทนานมีอุตสาหกรรม จำกัด ได้นำไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 56958 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยจดทะเบียนให้บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ และซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 56959 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยจดทะเบียนให้บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามภาพถ่ายโฉนด ส่วนที่เหลือจำนวน 31,578,880 บาท ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ได้ให้โจทก์ทยอยเบิกจ่ายเป็นค่าเครื่องจักรที่โจทก์สั่งซื้อ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ตกลงให้นำหนี้ของบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด มารวมและให้โจทก์เป็นผู้รับชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวมีโจทก์เป็นผู้กู้ ส่วนบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์มีภาระผูกพันกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ในฐานะผู้กู้ หนี้สินของบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด โอนไปเป็นหนี้สินของโจทก์ซึ่งมีต่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด เมื่อพิเคราะห์บัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้น ซึ่งโจทก์เบิกความรับว่าลงบัญชีตามความเป็นจริงในทางธุรกิจ โดยที่ข้อมูลทางการเงินที่เป็นตัวเลขแสดงถึงฐานะทางการเงินและการดำเนินงานของโจทก์ โจทก์ได้บันทึกบัญชีว่า บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้บันทึกดอกเบี้ยรับไว้ในบัญชี ตามสมุดรายวันทั่วไปของโจทก์ มีรายได้ดอกเบี้ยรับเงินกู้ระยะยาวจากบริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด ตามภาพถ่ายสมุดรายวันทั่วไป อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินและข้อมูลทางบัญชีเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการของโจทก์ พยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นย่อมฟังได้ว่าโจทก์ให้บริษัทนำรุ่งอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทที. เค. ที. พลาสแพค จำกัด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มหรือไม่ โดยจำเลยแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์ของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่จะของดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยให้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดยกเลิกการประเมินเท่านั้น มิได้อ้างเหตุในการขอลดหรืองดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งมิได้ร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาดลดหรืองดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มแก่โจทก์ด้วย แม้จำนวนเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับตามการประเมินเชื่อมโยงกับจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะโดยผลของกฎหมาย แต่กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เป็นข้อที่โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ศาลยังคงมีอำนาจที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับได้เองในกรณีมีเหตุสมควรด้วยนั้น และพิพากษาไม่ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ให้โจทก์จ่ายค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 8,000 บาท แทนจำเลย

Share