แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกว่าจ้างให้ ธ. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นว่าการกระทำของจำเลยกับพวกที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จำเลยกับพวกจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ. นั้น เป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยที่จำเลยกับพวกยังไม่ต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ธ. จำเลยกับพวกจึงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มิใช่เป็นผู้ก่อให้ ธ. กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากความผิดฐานเป็นผู้ใช้จะต้องยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84 วางโทษประหารชีวิต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้นางธัญญากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า นางธัญญายืนยันถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาโดยมีรายละเอียดเกี่ยวเนื่องครบถ้วนทุกขั้นตอน ไม่ปรากฏว่านางธัญญาเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งได้ความว่านางธัญญาอาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกันกับจำเลย หากจำเลยกับพวกไม่ได้เป็นผู้จ้างวานให้นางธัญญากระทำความผิดก็ไม่มีเหตุที่นางธัญญาจะให้การซัดทอดจำเลยเพื่อให้จำเลยต้องรับโทษ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า นางธัญญาเข้าใจผิดว่าจำเลยเป็นพลเมืองดีที่แจ้งจับนางธัญญา จึงเป็นเหตุให้นางธัญญาให้การใส่ร้ายจำเลยนั้น ก็เป็นเพียงความเข้าใจและการคาดคะเนของจำเลยเพียงฝ่ายเดียวไม่มีน้ำหนักรับฟัง น่าเชื่อว่านางธัญญาเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้คำให้การของนางธัญญาซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้พาดพิงถึงจำเลยในลักษณะเป็นการซัดทอด แต่ไม่ใช่เป็นการซัดทอดจำเลยในคดีเดียวกัน ทั้งไม่ใช่เป็นการให้การซัดทอดเพียงเพื่อให้ตนเองพ้นผิด หากแต่เป็นการให้การเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่นางธัญญาได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังเพียงแต่ต้องรับฟังอย่างระมัดระวังเท่านั้น ซึ่งเมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ที่นำสืบแล้วได้ความว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตามข้อเท็จจริงที่นางธัญญาให้การและมีการสเกตช์ภาพจำเลยและนายประพันธ์ตามคำบอกเล่าของนางธัญญาด้วยแล้ว ก็ปรากฏว่าจำเลยและนายประพันธ์มีตัวตนจริง ทั้งเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายประพันธ์ได้ นายประพันธ์ก็ให้การในชั้นสอบสวนยอมรับว่าร่วมกับจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาตั้งแต่ปี 2542 และได้มอบเมทแอมเฟตามีน 30,000 เม็ด ให้แก่จำเลยซึ่งนายประพันธ์ทราบว่าจำเลยไปว่าจ้างนางธัญญาให้นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพมหานคร ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาประกอบกับเมื่อทำการตรวจสอบโทรศัพท์หมายเลข 0 5386 8159 ซึ่งนางธัญญาให้การว่า นายประพันธ์ได้ให้ไว้เพื่อใช้ในการติดต่อ ก็ปรากฏว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์บ้านของนายประพันธ์ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่นางธัญญาให้การไว้ แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่นางธัญญาก็ตาม แต่โจทก์ก็มีนางสาวหฤทัย เขื่อนเพชร ผู้จัดการโรงแรมบอสโซเทลเบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ขอเปิดห้องพักโรงแรมในวันเกิดเหตุ ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ สอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของนางธัญญาที่ว่าจำเลยเปิดห้องพักโรงแรมเพื่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางธัญญา และจำเลยเบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ยอมรับว่าเป็นผู้เปิดห้องพักโรงแรมในวันดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยอ้างว่า นางธัญญาขอยืมบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดห้องพักโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนางธัญญานั้น ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่านางธัญญาขออาศัยรถจำเลยเข้ามาที่อำเภอเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ทั้งปรากฏว่านางธัญญาก็มีบัตรประจำตัวประชาชนจึงไม่มีเหตุผลใดที่นางธัญญาจะต้องยืมบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยและจำเลยต้องให้นางธัญญายืมบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเปิดห้องพักโรงแรมอีก ข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของนางธัญญาในคดีนี้แตกต่างจากคำเบิกความของนางธัญญาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 464/2546 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์ กับนายประพันธ์หรือเป็ง วรรณะศรี จำเลย นั้น เห็นว่า เป็นเพียงรายละเอียดและนางธัญญายังเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้างตนเองขนเมทแอมเฟตามีนไปกรุงเทพมหานคร จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลเป็นลำดับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกับพวกว่าจ้างให้นางธัญญานำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นว่าการกระทำของจำเลยกับพวกที่มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองก่อนที่จำเลยกับพวกจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางธัญญานั้น เป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยที่จำเลยกับพวกยังไม่ต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางธัญญา จำเลยกับพวกจึงเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง มิใช่เป็นผู้ก่อให้นางธัญญากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากความผิดฐานเป็นผู้ใช้จะต้องยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ข้อแตกต่างดังกล่าวก็มิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยเพียงแต่โต้เถียงว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับเมทแอม เฟตามีน จึงเห็นว่าจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่คำเบิกความของจำเลยที่ยอมรับว่าเป็นผู้เปิดห้องโรงแรมในวันเกิดเหตุซึ่งศาลนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยคดีนั้น เป็นการให้ความรู้แก่ศาล นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5