คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเป็นหินที่ประเมินจากความเสียหายจากหินที่ถูกคนร้ายขุดขึ้นมา มิใช่หินที่โจทก์ร่วมขุดขึ้นมากองไว้แต่อย่างใด หินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นหินแกรนิตที่มีอยู่ตามธรรมชาติและเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของแต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการเข้ายึดถือเอา การที่บริษัท ก โจทก์ร่วมได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่เป็นการผูกขาดจากรัฐ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงว่า ถ้าจะขุดหินแกรนิตจากพื้นดินที่ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าถือเอาได้โดยไม่มีการหวงห้ามเสมือนบุคคลที่ไม่ได้รับประทานบัตร แต่จะมีกรรมสิทธิ์ในหินแกรนิตได้จะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อโจทก์ร่วมยังมิได้เข้ายึดถือ ถือเอาหินแกรนิตในเขตประทานบัตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1318 โจทก์ร่วมจึงมิได้เป็นเจ้าของหินแกรนิต การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าขุดหินแกรนิตซึ่งฝังอยู่ในดินโดยจำเลยที่ 4 ซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วมเป็นผู้ขายหินแกรนิตให้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงการละเมิดสิทธิของโจทก์ร่วมตามประทานบัตรที่จะเข้ายึดถือเอาหินแกรนิตในเขตประทานบัตรเท่านั้น มิใช่เป็นการลักเอาทรัพย์ซึ่งเป็นหินแกรนิตของโจทก์ร่วมแต่อย่างใด
พื้นที่เกิดเหตุเป็นเขตประทานบัตร ผู้มีสิทธิขุดหินคือผู้ขอประทานบัตรและผู้รับช่วงประทานบัตร แม้ขณะเกิดเหตุจะอยู่ในช่วงขออนุญาตหยุดทำเหมืองแร่ก็ตาม แต่บุคคลที่เข้าไปในเขตประทานบัตรได้ก็คือบุคคลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าโจทก์ร่วมยังมีเจตนาที่จะยึดถือครอบครองที่ดินในเขตประทานบัตรอยู่ตลอดเวลาที่มีการอนุญาตให้หยุดทำการเหมืองแร่ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าไปขุดตักหินแกรนิตในเขตประทานบัตร ของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตจนเป็นเหตุให้บริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายมีลักษณะเป็นหลุมบ่อกระจายอยู่โดยรอบเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 2 งาน ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตาม ป.อ. มาตรา 362 และฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ทั้งยังมีความผิดฐานเข้าไปทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพพื้นที่ในเขตประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 12, 133 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 74 ทวิ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 13, 133 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 335, 336 ทวิ, 362, 365 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ 7,497,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัทกรีนฟิลด์เอเซีย จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 74 ทวิ (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 34 ทวิ) พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 4 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 4), 12, 13 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 13), 133 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 32, 33), 83, 335 (7) วรรคแรก, 336 ทวิ และมาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 ความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติแร่ ประมวลกฎหมายที่ดินและความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 3 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 65,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 4 ปี จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี ริบรถแบ็กโฮของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 7,497,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
โจทก์ร่วม และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 โดยนางสาวสุมิตรา และจำเลยที่ 3 ใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อบรรทุกหินแกรนิตออกจากเขตเหมืองแร่ที่โจทก์ร่วมได้รับช่วงประทานบัตรมาที่บริษัทขำเจริญ จำกัด จำเลยที่ 1 ประมาณ 588 คันรถบรรทุกหกล้อ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักทรัพย์หินแกรนิตของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า นายพงษ์ศักดิ์ ผู้จัดการบริษัทโจทก์ร่วมเข้าไปที่เหมืองแร่เขตประทานบัตร พบรถบรรทุกสิบล้อและหกล้อ รถยกหิน รถแบ็กโฮเล็ก และชายหลายคน เมื่อกลุ่มชายดังกล่าวเห็นพยานจึงวิ่งหลบหนี นายพงษ์ศักดิ์สังเกตที่ข้างรถยกเห็นเขียนว่าบริษัทขำเจริญ จำกัด จึงไปแจ้งความร้องทุกข์และคำนวณว่าหินที่ถูกลักขุดไปเป็นหินแกรนิตประมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นนายพงษ์ศักดิ์ยังพบหินแกรนิตที่นายชาญชัยตักขึ้นมาจากเขตประทานบัตรจำนวนหลายร้อยก้อน ซึ่งเคยวางอยู่ทั่วไปในบริเวณเขตประทานบัตรอยู่ที่บริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพิจารณาภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่า เป็นภาพถ่ายหินแกรนิตขนาดใหญ่เพียง 3 ก้อน ซึ่งนายประมวล นักธรณีวิทยา 7 ได้ตรวจสอบตัวอย่างหินจากหลังบริษัทจำเลยที่ 1 เปรียบเทียบกับหินในเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วมแล้วปรากฏว่า ก้อนหินมนใหญ่ที่เป็นหินแกรนิตเนื้อขนาดเดียวกันของทั้งสองบริเวณนี้ลักษณะคล้ายกันในเรื่องของชนิดหิน สีของหิน ขนาดของเนื้อหิน และแร่ประกอบหินแต่ไม่พบลักษณะเด่นเป็นพิเศษที่จะบ่งบอกยืนยันทางวิชาการธรณีวิทยาได้ว่า ก้อนหินมนใหญ่ที่กองอยู่บริเวณหลังบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งหมดหรือก้อนใดบ้างมาจากแหล่งก้อนหินมนใหญ่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วม ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนายเฉลียว พยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า พยานรับจ้างนายไพโรจน์ จัดสวนพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง นายไพโรจน์แนะนำให้พยานไปดูหินที่เขาตะคอง พยานจึงไปพบจำเลยที่ 4 และได้ขนหินออกจากเขตประทานบัตร 130 เที่ยวรถสิบล้อ โดยเริ่มขนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 นอกจากนั้นยังมีบริษัทอื่นอีก 10 กว่าแห่ง ที่นำหินออกจากเหมืองแร่ของโจทก์ร่วมโดยติดต่อกับจำเลยที่ 4 พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่า หินแกรนิตที่นายชาญชัยตักขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยจำนวนหลายร้อยก้อนจะถูกนำออกจากเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วมโดยฝ่ายจำเลยมิใช่ผู้ซื้อรายอื่น ส่วนหินแกรนิต 2,000 ลูกบาศก์เมตร ก็ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายพงษ์ศักดิ์ว่า เป็นหินที่โจทก์ร่วมประเมินจากความเสียหายจากหินที่ถูกคนร้ายขุดขึ้นมา มิใช่หินที่โจทก์ร่วมขุดมากองไว้แต่อย่างใด เห็นว่า หิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นหินแกรนิตซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติและเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของแต่บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการเข้ายึดถือเอา การที่บริษัทกรีนฟิลด์ เอเซีย จำกัด โจทก์ร่วมได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่เป็นการผูกขาดจากรัฐ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงว่าถ้าจะขุดหินแกรนิตจากพื้นดินที่ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าถือเอาได้โดยไม่มีการหวงห้ามเสมือนบุคคลที่ไม่ได้รับประทานบัตร แต่จะมีกรรมสิทธิ์ในหินแกรนิตได้จะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อน เมื่อปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมยังไม่ได้เข้ายึดถือเอาหินแกรนิตในเขตประทานบัตรตามมาตรา 1318 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ร่วมจึงมิได้เป็นเจ้าของในหินแกรนิต การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 เข้าขุดหินแกรนิตซึ่งฝังอยู่ในดินโดยจำเลยที่ 4 ซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วมเป็นผู้ขายหินแกรนิตให้กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงการละเมิดสิทธิของโจทก์ร่วมตามประทานบัตรที่จะเข้ายึดถือเอาหินแกรนิตในเขตประทานบัตรเท่านั้น มิใช่เป็นการลักเอาทรัพย์ซึ่งเป็นหินแกรนิตของโจทก์ร่วมแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ เมื่อฟังว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดฐานลักทรัพย์ไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาในประเด็นข้อนี้มิให้ถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญาและฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือที่ดินของรัฐ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าและเป็นเขตเหมืองแร่ซึ่งผู้มีชื่อถือประทานบัตรเป็นผู้ครอบครองดูแลตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีนายบุญมี เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโป่งให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่นายชาญชัยได้รับประทานบัตร จากการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และผู้ที่เข้าไปแผ้วถางต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานป่าไม้ นอกจากนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายกำพลเบิกความด้วยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตประทานบัตรผู้มีสิทธิขุดหินคือผู้ขอประทานบัตรและผู้รับช่วงประทานบัตร แม้ขณะเกิดเหตุจะอยู่ในช่วงขออนุญาตหยุดทำการเหมืองแร่ก็ตาม แต่บุคคลที่เข้าไปในเขตประทานบัตรได้ก็คือบุคคลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าโจทก์ร่วมยังคงมีเจตนาที่จะยึดถือครอบครองที่ดินในเขตประทานบัตรอยู่ตลอดเวลาที่มีการขออนุญาตหยุดทำการเหมืองแร่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โดยนางสาวสุมิตราและจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปขุดตักหินแกรนิตในเขตประทานบัตรของโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าไปดำเนินการแผ้วถางและขุดตักหินจนเป็นเหตุให้บริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายมีลักษณะเป็นหลุมบ่อกระจายอยู่โดยรอบเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 2 งาน และบันทึกการตรวจสอบพื้นที่ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญาและฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าทั้งยังมีความผิดฐานเข้าไปทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพพื้นที่ในเขตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 12, 133 ด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างว่า แม้เขตประทานบัตรเป็นเนินเขา มีถนนล้อมรอบ แต่ไม่มีป้ายปิดว่าเป็นเขตประทานบัตรจึงไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าและเป็นเขตประทานบัตรนั้นก็ปรากฏตามที่จำเลยที่ 3 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังจากจำเลยที่ 3 ไปดูเหมืองแล้วได้ไปบอกจำเลยที่ 2 ว่า หินที่จะซื้ออยู่ในเขตประทานบัตร แสดงว่า จำเลยที่ 3 ทราบดีแล้วว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินของรัฐไม่มีผู้ใดได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และอยู่ในเขตประทานบัตร ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ คำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share