คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์ของผู้เสียหาย โดยหลอกจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยกมายกรถยนต์ของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยกมาจอดด้านหน้ารถยนต์ผู้เสียหายและยกรถยนต์ผู้เสียหายด้านหน้าขึ้นเกยบนคานรถยก ใช้โซ่คล้องรถทั้งสองคันไว้ในลักษณะรถยกพร้อมจะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ โดยรถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่จากจุดที่จอดอยู่เดิมจากการยกขึ้นไปเกยบนคานรถยก ถือว่าจำเลยที่ 2 เข้ายึดถือและแย่งสิทธิครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายไปได้โดยสมบูรณ์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มิใช่อยู่ในขั้นพยายาม เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) คงเป็นความผิดเฉพาะมาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ การลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามมาตรา 335 (7) จึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ ริบรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานครและหมายเลขทะเบียน 93 – 3231 กรุงเทพมหานคร
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง มาตรา 336 ทวิ ประกอบมาตรา 80, 83 ลงโทษฐานร่วมกันพยายามลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ จำคุกคนละ 4 ปี ริบรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน 92 – 3231 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ให้ขังจำเลยที่ 1 ไว้ในระหว่างฎีกา ริบรถยกหมายเลขทะเบียน 93 – 3231 กรุงเทพมหานคร ไม่ริบรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานคร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติ จำเลยที่ 1 ขับรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานคร มายกรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ท – 8798 กรุงเทพมหานคร ของนายณัฐพงศ์ ผู้เสียหาย ซึ่งจอดไว้ข้างถนนใกล้ทางเข้าสถานีตำรวจนครบาลหนองแขม ผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจทราบเหตุได้มายังที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถยกหมายเลขทะเบียน 93 – 3231 กรุงเทพมหานคร มาจอดที่บริเวณใกล้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน เพื่อคอยรับรถยนต์ของผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้นตัวจำเลยที่ 2 พบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 1 ฉบับ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ และริบรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 1 ใช้ยกรถยนต์ของผู้เสียหายได้หรือไม่ เห็นว่า ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การต่อผู้จับกุมว่า เฮียโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 1 ไปเอารถไปส่งมอบที่บริเวณอู่ซ่อมรถใกล้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน ซึ่งระยะทางจากจุดยกรถกับบริเวณอู่ซ่อมรถจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ห่างกันประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ยังเบิกความว่า ในตอนแรกที่ผู้ว่าจ้างโทรศัพท์มา ผู้ว่าจ้างบอกด้วยว่าจะรอรับรถและจ่ายค่าจ้างที่หน้าอู่ซ่อมรถ ด้วยเหตุนี้น่าจะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นเจ้าของจะนำรถไปซ่อมที่อู่นั้นและจำเลยที่ 1 จะรับค่าจ้างด้วย เมื่อผู้จับกุมนำตัวจำเลยที่ 1 ไปถึงหน้าธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน ก็พบจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่รู้จัก โดยจำเลยที่ 2 ใส่เสื้อแขนยาวสีส้มตรงกับที่จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากผู้ว่าจ้างในระหว่างทางซึ่งผู้จับกุมก็เบิกความรับว่าได้ยินเช่นนั้นจริง หากจำเลยที่ 1 สมคบกับผู้ว่าจ้างในการลักรถผู้เสียหายแล้ว ผู้ว่าจ้างน่าที่จะแจ้งเรื่องนี้ให้จำเลยที่ 1 ทราบตั้งแต่แรกที่โทรศัพท์มาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุผลที่จะปกปิดแผนการ และยังแสดงให้เห็นว่าในตอนแรกผู้ว่าจ้างได้บอกจำเลยที่ 1 ว่าจะมาคอยรับรถและจ่ายเงินค่ายกรถด้วยตนเองตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความ ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยที่ 1 เกิดความมั่นใจในตัวผู้ว่าจ้างว่าเป็นเจ้าของรถจริง เมื่อผู้จับกุมตรวจค้นตัวจำเลยที่ 2 ก็พบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 1 ฉบับ อยู่ในกำมือ ซึ่งจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นเงินจะจ่ายเป็นค่ายกรถ ความข้อนี้ระบุไว้ในบันทึกการจับกุม เงินจำนวนนี้น้อยเกินไปสำหรับการว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ใช้รถยกลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งมอบให้คนร้ายซึ่งรออยู่อีกสถานที่หนึ่ง เพราะไม่คุ้มหากจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จึงฟังว่าเป็นเงินค่าจ้างยกรถตามปกติที่จำเลยที่ 2 เตรียมไว้จ่ายให้จำเลยที่ 1 แม้ก่อนจำเลยที่ 1 จะตกลงรับจ้างยกรถ จำเลยที่ 1 ไม่ได้สอบถามชื่อ ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง รวมทั้งคู่มือจดทะเบียนรถที่จะต้องนำมาแสดงเมื่อส่งมอบรถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสำหรับผู้ประกอบอาชีพยกรถพึงกระทำก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เท่าที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาร่วมกับผู้ว่าจ้างหรือจำเลยที่ 2 ในการลักรถยนต์ของผู้เสียหาย ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาตลอด พยานจำเลยที่ 1 หักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์นั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยของคดีเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คนร้ายโทรศัพท์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำรถยกไปยกรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งที่บริเวณอู่ซ่อมรถใกล้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน โดยมีจำเลยที่ 2 จะรอรับรถยนต์และจ่ายค่าจ้าง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเครื่องมือของคนร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดจึงริบรถยกหมายเลขทะเบียน 85 – 7826 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 1 ใช้ยกรถยนต์ของผู้เสียหายไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าไม่ได้สอบถามชื่อผู้ว่าจ้างและไม่ปรากฏว่าได้สอบถามที่อยู่ผู้ว่าจ้างด้วย คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงเลื่อนลอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติของผู้มีอาชีพรับจ้างยกรถซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ จุดที่ผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 นำรถไปส่งที่ดาวคะนองนั้นก็ไม่ระบุว่าตรงไหน ส่งมอบให้ใคร จึงไม่อาจรับเงินค่าจ้างยกรถได้ด้วย การที่จำเลยที่ 2 รับงานจากผู้ว่าจ้างทางโทรศัพท์หาใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ หรือถูกหลอกเหมือนจำเลยที่ 1 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 สมรู้ร่วมคิดกับผู้ว่าจ้างในการลักรถ นอกจากนี้ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ขณะที่ร้อยตำรวจเอกดำรง ผู้จับกุมนำตัวจำเลยที่ 1 ไปที่บริเวณธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน เพื่อจะหาตัวผู้ที่จะมารับรถจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่งนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ชายว่าให้จำเลยที่ 1 นำรถไปส่งให้คนที่ใส่เสื้อสีส้มซึ่งจะรออยู่ที่หน้าธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบอน เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าในขณะเกิดเหตุใส่เสื้อส้ม จำเลยที่ 2 จึงมาที่เกิดเหตุเพื่อจะรับรถยนต์ของผู้เสียหายที่จำเลยที่ 1 ยกมาส่งให้นั่นเอง และมีเหตุผลให้เชื่อว่าธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 1 ฉบับ ของกลางที่ยึดได้จากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 นำมาจ่ายเป็นค่าจ้างยกรถให้จำเลยที่ 1 มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับค่าจ้างในการยกรถครั้งนี้ ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป พยานจำเลยที่ 2 ที่นำสืบมาไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 วางแผนกับพวกหลอกให้จำเลยที่ 1 ลักรถยนต์ของผู้เสียหายมาส่งให้จำเลยที่ 2 เพื่อจำเลยที่ 2 จะยกรถยนต์ต่อไปยังจุดหมาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของตน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการลักทรัพย์สำเร็จหรือพยายามลักทรัพย์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและร้อยตำรวจเอกดำรงว่า รถยนต์ของผู้เสียหายถูกยกส่วนหน้าขึ้นไปเกยบนคานและมีโซ่คล้องรถยนต์ของผู้เสียหายผูกยึดติดกับรถยกของจำเลยที่ 1 พร้อมที่จะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ทันที โดยรถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่จากจุดที่จอดอยู่เดิมจากการยกขึ้นไปเกยบนคานรถยก ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้เป็นเครื่องมือได้เข้ายึดถือครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะเอาไปได้แล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เอาไปซึ่งรถยนต์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แม้จำเลยที่ 1 จะยังไม่ทันขับรถยกลากจูงรถยนต์ของผู้เสียหายออกไปก็ตาม หาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) คงเป็นความผิดเฉพาะมาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามมาตรา 335 (7) ด้วยนั้น จึงไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ ลงโทษจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share