คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13894/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) หาได้บัญญัติว่าการกระทำหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ลูกจ้างฝ่าฝืนต้องระบุว่าความผิดกรณีร้ายแรงเป็นอย่างไร คงบัญญัติเพียงว่าหากมีการกระทำผิดอย่างร้ายแรงหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกจ้างหรือตักเตือนเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้ระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ไม่ระบุว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ในการฝ่าฝืนระเบียบได้เองว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรง ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีว่าการฝ่าฝืนมีผลให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ลูกจ้างอื่น สถานที่ทำงาน ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมากน้อยเพียงใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,212.50 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 และค่าชดเชย 67,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ 55,200.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดหาได้กล่าวอ้างถึงการลงโทษคู่กรณีของโจทก์เป็นข้อเปรียบเทียบ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share