คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8934/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของวันที่ 28 มิถุนายน 2547 สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2547 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความก็ตาม แต่การฟ้องคดีดังกล่าว หาทำให้อายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 สะดุดหยุดลงไม่ เพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ การจะฟังว่าอายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ขาดแล้วหรือไม่ ต้องถือเอาวันที่จำเลยร่วมที่ 2 ถูกเรียกเข้ามาในคดีซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคดีเป็นเกณฑ์ โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นผู้ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีในวันที่ 2 กันยายน 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงขาดอายุความ
1/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,363,525.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,157,637.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันยื่นคำให้การจำเลยยื่นคำร้องว่า หากศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากฮิโร ชิปปิ้ง อิงค์ บริษัทนิปปอน ยูเซน ไคชา จำกัด และบริษัทโตเกียว เซนปากุ ไคชา จำกัด จึงขอให้เรียกบริษัททั้งสามดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต โดยให้เรียกฮิโร ชิปปิ้ง อิงค์ เป็นจำเลยร่วมที่ 1 บริษัทนิปปอน ยูเซน ไคชา จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2 และบริษัทโตเกียว เซนปากุ ไคชา จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 3
จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 61,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 220,206.25 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า บริษัทเอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าเครื่องอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระบบสุญญากาศพร้อมอุปกรณ์จากบริษัทอินาบาตะ จำกัด ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาบริษัทอินาบาตะ จำกัด ว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มายังท่าเรือกรุงเทพ แล้วจำเลยมอบหมายให้จำเลยร่วมที่ 2 ขนส่งสินค้าบรรทุกมาในเรือสุมิเร และเมื่อเรือเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพและขนถ่ายสินค้าพิพาทในวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหาย บริษัทอินาบาตะ จำกัด จึงเรียกให้โจทก์ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 แล้วทวงถามให้จำเลยชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2548 จำเลยยื่นคำให้การและยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันเดียวกันขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดี มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 เพียงข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังวินิจฉัยแล้ว สิทธิของโจทก์ในการที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนจากผู้ซึ่งต้องรับผิดในคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2547 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในวันที่ 27 มิถุนายน 2548 หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าและภายในกำหนดอายุความก็ตาม แต่การฟ้องคดีดังกล่าวหาทำให้อายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 สะดุดหยุดลงไม่ เพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ การจะฟังว่าอายุความสำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ขาดแล้วหรือไม่ต้องถือเอาวันที่จำเลยร่วมที่ 2 ถูกเรียกเข้ามาในคดี ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคดีเป็นเกณฑ์ โดยไม่คำนึงว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นผู้ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาในคดีในวันที่ 2 กันยายน 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมที่ 2 จึงขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share