คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1618/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเวยยยาวัจจกรของวัด ได้บอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งต้นไม้ที่ปลูกล้ำที่เข่าวัดออกมา เพื่อทางวัดจะได้ขุดคูไปให้ทะลุคลอง ตามที่ได้ตกลงจ้างเขาไว้ โจทก์รับทราบและว่าจะจัดการ แล้วต่อมาไม่จัดการ ประวิงเวลาไว้จนสัญญาที่ทางวัดจ้างผู้ขุดจะหมด จำเลยจึงได้เข้าจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและตัดต้นไม้ที่ล้ำนอกเขตเช่า โดยระมัดระวังพยายามให้เกิดการเสียหายน้อยที่สุด เพื่อขุดคลองแล้วนำไปกองไว้ให้โจทก์ เช่นนี้จำเลยยังไม่มีผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพราะมิได้มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยต้องรับผิดในการละเมิดที่ทำแก่ทรัพย์ของโจทก์ ไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลแพ่ง มาตรา 451 นอกจากค่าเสียหายธรรมดาแล้วศาลยังคิดค่าเสียหายให้ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 446 อีกโสดหนึ่งด้วย.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลสั่งพิจารณารวมกัน โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินวัดไทรอยู่โดยปลูกบ้านมานานปี ครั้นวันที่ ๑๒,๑๔,๑๗,๑๘ พ.ศ. ๒๔๙๖ เวลากลางวันจำเลยกับพวก โดยไม่มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ได้สมรู้ร่วมมือกันบังอาจทำแก่ทรัพย์ของโจทก์ให้เป็นอันตราย ชำรุด เสียหาย ฯลฯ จึงขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๒๔,๖๓,๗๑ พร้อมกับขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่นายยกหลงโจทก์ ๗,๑๑๕ บาท และแก่นางเง็กโจทก์ ๕,๓๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาร้ายอันควรแก่เป็นความผิดอาญา เพราะจำเลยกระทำโดยความจำเป็นและโดยหน้าที่อันชอบธรรมตามกฎหมายเพื่อป้องกันบรรเทาความเสียหายของฝ่ายจำเลยที่กำลังเป็นอยู่ จำเลยกระทำเท่าที่จำเป็นและโดยความระมัดระวัง ทั้งนี้ตามความปรองดองระหว่างโจทก์จำเลยและผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีอนุมัติคูที่จำเลยขุดและต้นไม้ที่จำเลยตัด จำเลยผู้เป็นเวยยาวัจจกรของวัดไทรย่อมทำได้ เพราะทำในที่ของวัด ซึ่งมิได้ให้โจทก์เช่า โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้อง ค่าขาดความสุขโจทก์เรียกไม่ได้ จึงขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๒๔,๖๓ ปรับรวม ๒๐๐ บาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้นายยกหลง ๙๘๗.๕๐ บาท ให้นางเง็ก ๖๑๐ บาท
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการละเมิด แต่แก้ให้จำเลยใช้แก่นายยกหลง ๕๐๐ บาท ให้นางเง็ก ๒๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการบูรณะวัดและเป็นเวยยาวัจจกรของวัด จำเลยที่ ๒ ผู้รับจ้างเก็บผลประโยชน์ส่งวัดได้พาผู้รับเหมากับลูกจ้างไปรื้อรั้วไม้ขัดแตะหลังบ้านนางเง็ก ซึ่งเป็นรั้วที่พวกผู้อพยพหลบภัยสงครามทำไว้ และตัดต้นไม้บางต้นที่กีดขวางทางที่จะขุดคู กับรื้อที่ทำครัวของนายยกหลง และที่ซักผ้าแล้วขุดดินต่อจากคูที่ขุดไว้ในตอนในเฉียดข้างเรือนโจทก์ทั้งสองจนถึงคลองสนามชัย จนน้ำในคลองไหลเข้าออกในคูได้ ส่วนสิ่งที่รื้อออกของโจทก์คนใดก็เอากองไว้ให้ที่หลังบ้านของโจทก์คนนั้น ซึ่งศาลเชื่อว่าเขตที่จำเลยรื้อถอนตัดฟันไม่ได้อยู่ในเขตที่วัดได้ตกลงให้โจทก์เช่า เป็นการส่อแสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาแกล้งทำลายทรัพย์ของโจทก์ให้ชำรุดเสียหายไปโดยปราศจากเหตุผล จำเลยจึงไม่มีเจตนาชั่วร้าย จึงไม่ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๒๔ แต่สำหรับการรับผิดในเรื่องละเมิดนั้นจำเลยต้องรับผิดตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๔๓๘ จำเลยไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๔๕๑ ดั่งจำเลยเถียง ทั้งศาลฎีกายังเห็นว่าสำหรับค่าสินไหมทดแทนนั้น นอกจากการคืนทรัพย์สินที่ผู้กระทำทำให้เสียหายไป หรือใช้ราคาทรัพย์สินแทนแล้ว
กฎหมายยังให้ผู้เสียหายเรียกเอาค่าเสียหายได้อีกตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๔๔๖ จึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามที่ศาลต้นพิพากษาไว้ กับให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์อีกรายละ ๒๐๐ บาทด้วย.

Share