คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า คดีขาดอายุความเนื่องจากจำเลยทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาเกิน 10 ปี ได้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดก และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่เมื่อใดนับแต่วันใดถึงวันฟ้อง คดีจึงขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้ายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในปัญหานี้
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ตกทอดแก่ทายาท คือ ท. ภริยาและบุตรทั้งเจ็ดโดย ท. ไปขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทแทนทายาท ดังนี้ เมื่อ ท. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 และทายาทคนอื่นด้วย เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า ท. ผู้โอน ท. เป็นภริยาของ ย. เจ้ามรดก มีสิทธิได้ส่วนแบ่งในการรับมรดกเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (1) โจทก์ที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหนึ่งในแปดส่วน และชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ลงในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวคนละ 2 ไร่ 2 ตารางวา มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสอง นายพยนต์ นางกำไร นายยม และนายเยื้อน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายอยู่ กับนางทิ้ง ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2326 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 16 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ. 1 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายอยู่ หลังจากนายอยู่ถึงแก่ความตาย นางทิ้งได้ไปรับโอนมรดกและจดทะเบียนยกให้จำเลยทั้งสอง ปัญหาประการแรกที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า คดีของโจทก์ที่ 1 ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า คดีขาดอายุความ เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาเกิน 10 ปี ได้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องฟ้องคดีมรดก และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องตั้งแต่เมื่อใด นับแต่วันใดถึงวันฟ้อง คดีจึงขาดอายุความไปแล้ว คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในปัญหานี้
ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์ที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยมานั้น เมื่อคู่ความต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านและจำเลยทั้งสองมิได้แก้อุทธรณ์โต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายอยู่ ตกทอดแก่ทายาท คือ นางทิ้งภริยาและบุตรทั้งเจ็ด โดยนางทิ้งไปขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทแทนทายาท ดังนี้ เมื่อนางทิ้งยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 และทายาทคนอื่นด้วย เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่านางทิ้งผู้โอน นางทิ้งเป็นภริยาของนายอยู่เจ้ามรดก มีสิทธิได้ส่วนแบ่งในการรับมรดกเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 (1) โจทก์ที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหนึ่งในแปดส่วน และชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ลงในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 วรรคหนึ่ง”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 เข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2326 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวนหนึ่งในแปดส่วน แต่ทั้งนี้ไม่ให้เกิน 2 ไร่ 2 ตารางวา ตามที่โจทก์ที่ 1 ขอ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share