คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2914/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้” ข้อความของมาตรา 91 ที่ว่า “แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม” จะเห็นได้ว่า อัตราโทษสูงสุดตามที่มาตรา 91 กำหนดไว้นั้น ถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษจะต้องนำมาใช้เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้ว มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อนแล้วจึงจะพิจารณาลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ก่อน 2 กระทงแล้วลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 เหลือโทษจำคุกกระทงละ 25 ปี แล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา 91 (3) มาปรับว่าโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 67, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91 ริบของกลาง และขอให้นำโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2989/2545 ของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2) (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 67 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 4,500,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 4,500,000 บาท จำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 3,000,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ และกึ่งหนึ่ง ตามลำดับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 25 ปี และปรับกระทงละ 2,250,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี และปรับ 4,500,000 บาท จำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 25 ปี และปรับ 2,250,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 26 ปี และปรับ 2,250,000 บาท บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2989/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 26 ปี 6 เดือน และปรับ 2,250,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ทั้งนี้ให้กักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีได้ ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง คำขออื่น (ที่ถูก ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2) ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 3,000,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,500,000 บาท รวมปรับ 4,500,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,250,000 บาท ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,000,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงปรับ 750,000 บาท สำหรับโทษจำคุกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาและคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 15,800 เม็ด น้ำหนักรวม 1,430.490 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 480.725 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนักรวม 180.400 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 31.300 กรัม ให้แก่ผู้ล่อซื้อในราคา 220,000 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด น้ำหนักรวม 0.920 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 0.165 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15,810 เม็ด และโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 2 เครื่อง เป็นของกลาง
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแต่ละกระทงให้จำคุกตลอดชีวิตแล้วลดโทษแต่ละกระทงกึ่งหนึ่งก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี เมื่อลดกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 25 ปี จากนั้นจึงนำโทษ 2 กระทงมารวมกันเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปีนั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่าตามหลักกฎหมายดังกล่าวเมื่อศาลจำคุกตลอดชีวิตแต่ละฐานความผิดแล้วจึงไม่อาจรวมโทษทั้งสองฐานเข้าด้วยกันได้ คงได้แต่จำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น เมื่อลดโทษจำคุกตลอดชีวิตกึ่งหนึ่งโดยเปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี อันเป็นโทษสุทธิที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ได้ ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6249/2545 หมายเลขแดงที่ 7984/2546 ระหว่างพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสมชัยหรือตี๋ กับพวก จำเลย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ควรได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกันกับจำเลยในคดีดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน…” ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้…” ฉะนั้นจากข้อความของบทบัญญัติของมาตรา 91 ที่ว่า “แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม” จะเห็นได้ว่าอัตราโทษสูงสุดตามที่มาตรา 91 กำหนดไว้นั้น ถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษจะต้องนำมาใช้เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้ว มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1 ก่อน 2 กระทง แล้วลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 เหลือโทษจำคุกกระทงละ 25 ปี แล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา 91 (3) มาปรับว่าโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี จึงชอบแล้ว สำหรับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 1 อ้าง หากเป็นจริงตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ไม่ผูกพันศาลฎีกาให้ต้องปฏิบัติตามและไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share