คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยนำเงิน 29,400,000 บาท ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตาม ป.อ. หรือกฎหมายอื่น โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพไปหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้ผู้ใดพบเห็นและทราบถึงลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนทั้งการได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากจะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว โจทก์ยังขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาด้วย ส่วนคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้เบิกเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสว่างแดนดินไปรวม 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 29,400,000 บาท แล้วไม่นำมาเก็บรักษาไว้ในที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน หรือนำไปใช้จ่ายในกิจการของที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน แต่กลับเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอให้ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 เห็นได้ว่า วันเวลา สถานที่รวมถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เป็นวันเวลา สถานที่เดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีก่อนของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในคดีดังกล่าวแล้วว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีการทุจริตยักยอกเงินถึง 22 ครั้ง แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมมิได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 29,400,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 ของศาลชั้นต้นแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยอาศัยการกระทำของจำเลยในคราวเดียวกัน และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงต้องห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยรับกันและไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อันเป็นความผิดและขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 9, 10, 60 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปี เมื่อรวมโทษจำคุกกับความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้วจำคุกจำเลยมีกำหนด 31 ปี โจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวจึงเป็นอันถึงที่สุด ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 หมายเลขแดงที่ 2105/2552 และสำเนาหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ท้ายคำแก้ฎีกาของจำเลย คดีจึงมีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 หมายเลขแดงที่ 2105/2552 ของศาลชั้นต้น อันทำให้สิทธินำคดีนี้มาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 หมายเลขแดงที่ 2105/2552 ของศาลชั้นต้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยนำเงิน 29,400,000 บาท ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพไปหรือกระทำการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเพื่อซุกซ่อน ปกปิด แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น เพื่อปกปิด อำพรางไม่ให้ผู้ใดพบเห็นและทราบถึงลักษณะที่แท้จริง ตลอดจนทั้งการได้มาซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นอกจากจะขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว โจทก์ยังขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 มาด้วย ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้เบิกเงินของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสว่างแดนดิน ไปรวม 22 ครั้ง รวมเป็นเงิน 29,400,000 บาท แล้วไม่นำเอาเก็บรักษาไว้ในที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดินหรือนำไปใช้จ่ายในกิจการของที่ทำการไปรษณีย์สว่างแดนดิน แต่กลับเบียดบังเอาไปเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 เห็นได้ว่า วันเวลา สถานที่รวมถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เป็นวันเวลา สถานที่เดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 หมายเลขแดงที่ 2105/2552 ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในคดีดังกล่าวแล้วว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ามีการทุจริตยักยอกเงินถึง 22 ครั้ง แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมมิได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำความผิดของจำเลยและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงระงับไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องเรื่องเดียวกันกับฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1147/2547 ของศาลชั้นต้น อันต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share