คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
การที่ผู้กู้มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ให้กู้ โดยมีข้อตกลงให้ผู้ให้กู้จัดการทำประกันภัยแทนผู้กู้ได้ และผู้กู้ยินยอมชำระค่าธรรมเนียมและค่าเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินนั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่ที่โจทก์ขอมาเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้อง จึงเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคตจะถือว่าจำเลยที่ 1 และนาย ช. ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และนาย ช. ตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้และบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นการบังคับจำนองว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ หากไม่พอย่อมยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และนาย ช. ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่ในตอนพิพากษากลับมิได้พิพากษาเกี่ยวกับการบังคับจำนอง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,261,923.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,413,519.46 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,158.19 บาท ทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินฉบับแรกจำนวน 1,249,665.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,199,987.49 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,158.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่สองจำนวน 337,414.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 213,531.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์เกินกว่าที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากกองมรดกของนายชุมพล ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่า สูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้และบังคับจำนองโดยคำฟ้องในส่วนของการจำนองได้บรรยายไว้ว่า เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 และนายชุมพลมีต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และนายชุมพลได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 32421, 61893 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และนายชุมพลยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วนและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นการบังคับจำนองว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ หากไม่พอย่อมยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และนายชุมพลขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่ในตอนพิพากษากลับมิได้พิพากษาเกี่ยวกับการบังคับจำนอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 การที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามที่โจทก์ขอนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 32421, 61893 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และนายชุมพลออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share