แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียทีเดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ
จากความเป็นมาของเรื่อง รูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และ มาตรา 110 (1) ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 250,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และออกหมายกักขังแทนค่าปรับ
หลังจากถูกกักขัง 2 วัน จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอชำระค่าปรับบางส่วนเป็นเงิน 5,000 บาท และขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ชั่วคราวเพื่อออกไปหาเงินมาชำระค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 245,000 บาท จนครบถ้วนเป็นเวลา 30 วัน โดยนำหนังสือรับรองเลขที่ 125957 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพเลขที่ 05001/พีโอแอล/125957 – 205 วงเงิน 245,000 บาท ของผู้ร้องมาวางต่อศาลเป็นประกันโดยเงื่อนไขในกรมธรรม์ระบุว่า กรณีที่ผู้เอาประกันภัยเจตนาทำผิดสัญญาประกันและเมื่อผู้ร้องได้ชดใช้ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าเสียหายให้เจ้าพนักงานไปแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเงินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ร้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเงินค่าปรับมาชำระอีกอีก 2 ครั้ง เป็นจำนวน 3,000 บาท และ 4,000 บาท ส่วนที่เหลือขอผัดชำระหลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ไม่มาศาลและผิดนัดไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับและปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน ผู้ร้องนำเงินค่าปรับมาชำระวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวจำเลยที่ 2 มาส่งศาล ผู้ร้องยื่นคำร้องของดหรือลดค่าปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งลดค่าปรับลงเหลือ 122,500 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า สัญญาประกันที่มีกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของผู้ร้องเป็นหลักประกันนั้นเป็นการประกันตัวชั่วคราวระหว่างรอบังคับโทษกักขังแทนค่าปรับ หรือเป็นสัญญาประกันการชำระค่าปรับ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียที่เดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ
สำหรับในคดีนี้ ปรากฏว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งไว้ในคำพิพากษาว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับ จากนั้นจำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุว่าจะออกไปหาเงินมาชำระค่าปรับ โดยเสนอหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพที่บริษัทรับประกันภัยผู้ร้องรับประกันต่อศาลว่า จะส่งตัวจำเลยที่ศาลเพื่อชำระค่าปรับ หากจำเลยไม่มาศาลเพื่อชำระค่าปรับ บริษัทประกันก็จะชำระเงินให้แก่ศาลจำนวน 245,000 บาท และเมื่อจำเลยไม่มาศาล ทั้งผู้ร้องไม่อาจนำตัวจำเลยมาศาลตามกำหนดได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ชำระค่าปรับในเวลาต่อมา และเมื่อต่อมาผู้ร้องนำตัวจำเลยมาศาลได้ ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องขอลดค่าปรับลง จากความเป็นมาของเรื่องรูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้ร้องไม่ได้บิดพลิ้วในการนำเงินมาชำระค่าปรับ และสามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ไม่นานนักหลังจากมีการผิดสัญญาประกัน จึงเห็นควรลดค่าปรับลงอีก
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลดค่าปรับให้แก่ผู้ร้องกรณีผิดสัญญาประกันลงอีกคงปรับเป็นเงิน 50,000 บาท