คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7501/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างกระทำการใดๆ ที่เป็นการลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง การจัดสวัสดิการและการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าจะเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานหรือกรรมการสหพันธ์แรงงานไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมาจากเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 121 (1) (2) หรือขัดขวางการเข้าหรือออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิ์ของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงานโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 121 (3) (4) และ (5) การที่ลูกจ้างเคยร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลาง และการที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำที่สถานประกอบการโดยไม่ต้องทำหน้าที่ขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว ก็มิได้เนื่องมาจากเหตุที่ลูกจ้างกระทำการสืบเนื่องเกี่ยวข้องในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกสหภาพแรงงาน นายจ้างจึงมิได้กระทำการใดๆ ต่อลูกจ้างเพื่อลดความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 แต่อย่างใด จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขอเพิกถอนคำสั่งที่ 146 – 147/2547 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ของจำเลยทั้งเก้าในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า การกระทำของโจทก์เป็นการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ ภายในองค์กรประกอบกับคำสั่งของโจทก์ได้สั่งหลังจากนายสมคิดและนายพิริยกร ฟ้องเรียกค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลัง 2 ปี จากโจทก์ ซึ่งถือว่ามีเหตุผลที่รับฟังได้ หากเป็นจริงตามข้อวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าโจทก์น่าจะไม่มอบหมายงานให้นายสมคิดและนายพิริยกร ทำทันทีที่บุคคลทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าว ข้อวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146 – 147/2547 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ของจำเลยทั้งเก้าในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างกระทำการใดๆ ที่เป็นการลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง การจัดสวัสดิการและการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าจะเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมาจากเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 121 (1) (2) หรือขัดขวางการเข้าหรือออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงานโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 121 (3) (4) และ (5) ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า แม้นายสมคิดกับนายพิริยกรจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานขนส่งและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของโจทก์ แต่การที่นายสมคิดกับนายพิริยกรเคยร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางอันเป็นการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลเฉพาะตนของลูกจ้าง และการที่โจทก์มีคำสั่งให้นายสมคิดกับนายพิริยกรประจำที่สถานประกอบการโดยไม่ต้องทำหน้าที่ขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว ก็มิได้เนื่องมาจากเหตุที่บุคคลทั้งสองกระทำการสืบเนื่องเกี่ยวข้องในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกสหภาพแรงงาน นายจ้างจึงมิได้กระทำการใดๆ ต่อบุคคลทั้งสองเพื่อลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 แต่อย่างใด การที่โจทก์ให้นายสมคิดกับนายพิริยกรประจำที่สถานประกอบการดังกล่าว จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 146 – 147/2547
ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share