คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ยอดขายน้ำมันของโจทก์ที่ได้จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินโดยนำยอดซื้อคงเหลือต้นปีบวกด้วยยอดซื้อตลอดปี แล้วลบด้วยยอดคงเหลือปลายปี มีจำนวนสูงกว่ายอดขายตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ส่งไปให้ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินย่อมนำยอดขายที่ได้จากใบเสร็จรับเงินลบออกจากยอดขายที่ได้จากการตรวจสอบแล้วถือว่าผลต่างที่ได้เป็นจำนวนน้ำมันที่โจทก์ขายไปโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากผลต่างดังกล่าวได้ ในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีว่ายินยอมให้เพิ่มยอดขายน้ำมันต่อลิตรในอัตราลิตรละ 0.02 บาท จากราคาขายที่แสดงไว้เดิม เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินโดยถือเกณฑ์กำไรลิตรละ 0.02 บาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับปี 2520-2522 เป็นเงิน 1,506,429.79 บาทโดยอ้างว่าโจทก์มียอดขายทียังไม่ได้ลงบัญชี มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และจ่ายเงินได้พึงประเมินโดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายปรากฏตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ กค.0821/1047/2/02279-81 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ กค. 0821/1047/1/29996โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้ลดเงินเพิ่มลงร้อยละ 50 สำหรับเงินได้นิติบุคคล และให้ยกอุทธรณ์โจทก์ที่คัดค้านการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 21, 22 ก-22 ค/2531/1 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโดยอ้างว่า โจทก์มียอดขายที่ยังไม่ได้ลงบัญชี เพราะไม่เชื่อว่าใบเสร็จรับเงินจากการขายสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของโจทก์ชำรุดและสูญหาย และใช้วิธีคำนวณว่าโจทก์ขายน้ำมันเชื้อเพลิงได้กำไรลิตรละ 0.02 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ส่วนที่อ้างว่าหลักฐานการลงบัญชีรายจ่ายของโจทก์ไม่ครบถ้วนนั้น โจทก์จ่ายไปจริง แต่หลักฐานหายเท่านั้น และที่โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนั้น เนื่องจากเมื่อคำนวณรายได้ทั้งปีหักค่าใช้จ่ายของลูกจ้างและคู่สมรสกับบุตรแล้ว ลูกจ้างของโจทก์มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องชำระภาษี การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวข้างต้น
จำเลยให้การว่า ในการตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประวิทย์ วณิชชานนท์ เป็นตัวแทนในการให้การต่อเจ้าพนักงาน นายประวิทย์ได้ยินยอมและรับรองว่าโจทก์มีกำไรลิตรละ 0.02 บาท และพนักงานบัญชีของโจทก์ลงบัญชีไว้ไม่ถูกต้องส่วนเรื่องรายจ่ายต้องห้ามนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจพบว่าบางรายการเป็นรายจ่ายหนี้สูญโดยไม่มีหลักฐานการติดตามทวงหนี้บางรายการโจทก์หักค่าเสื่อมราคาเกินสิทธิตามกฎหมาย บางรายการไม่มีหลักฐานการจ่าย สำหรับเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักณ ที่จ่าย เจ้าพนักงานประเมินพบว่า โจทก์จ่ายเงินเดือนให้พนักงานโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งไว้ไม่ครบถ้วน ไม่มีหลักฐานแสดงสถานะทางครอบครัว โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานประเมินถือว่าพนักงานของโจทก์เป็นคนโสด หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 เป็นการเหมาการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มียอดขายไม่ลงบัญชีตามที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ได้ลงรายการบัญชียอดขายไว้ถูกต้องแล้ว และการที่เจ้าพนักงานประเมินนำแต่ยอดสูงของบริษัทผู้ขายส่งมา ตรวจสอบส่วนยอดที่ต่ำกว่าไม่นำมาพิจารณาเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประวิทย์ วณิชชานนท์ มาให้ถ้อยคำแทน และนายประวิทย์ได้ให้ถ้อยคำว่า ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ส่งมาให้ตรวจสอบไม่ครบถ้วนเพราะได้สูญหายไป จึงยินยอมให้เพิ่มจำนวนลิตรที่เจ้าพนักงานคำนวณได้ว่ามิได้ออกใบเสร็จรับเงิน และรับว่าการลงรายการตามบัญชีทั้งที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินอาจผิดพลาดไปเพราะพนักงานบัญชีของโจทก์ลงรายการไว้ไม่ถูกต้อง ผลการคำนวณของเจ้าพนักงานเป็นจำนวนเท่าใดโจทก์ยินยอมชำระเพิ่มเติมพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายทุกประการปรากฏตามคำให้การของนายประวิทย์ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2530ในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 85 จากคำให้การของนายประวิทย์ดังกล่าว โจทก์ได้ยอมรับแล้วว่า โจทก์ลงรายการยอดขายไม่ครบถ้วนโจทก์จะมาโต้แย้งในชั้นศาลว่า ความจริงโจทก์ลงรายการไว้ครบถ้วนแล้วเป็นการขัดกับเอกสารและไม่สมเหตุผล จึงไม่น่าเชื่อ ส่วนวิธีคำนวณยอดขายที่แท้จริงของเจ้าพนักงานประเมินนั้น ปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวสุกัญญา ประกิจจานุรักษ์พยานจำเลยว่าพยานเป็นผู้ตรวจสอบยอดขายน้ำมันของโจทก์ โดยนำเอายอดซื้อคงเหลือต้นปีบวกด้วยยอดซื้อตลอดปี แล้วลบด้วยยอดคงเหลือปลายปีก็จะได้ยอดขายของโจทก์ ซึ่งปรากฏว่ายอดขายของโจทก์จากการตรวจสอบดังกล่าวสูงกว่ายอดขายที่ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ส่งมาให้ตรวจสอบพยานจึงได้นำยอดขายที่ได้จากใบเสร็จรับเงินลบออกจากยอดขายที่ได้จากการตรวจสอบ ผลต่างจึงเป็นจำนวนน้ำมันที่โจทก์ขายไปโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า วิธีการคำนวณหายอดขายที่แท้จริงดังกล่าวชอบด้วยข้อเท็จจริงเหตุผลและความเป็นธรรมแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานนำเอาแต่ยอดซื้อที่สูงกว่ามา ตรวจสอบ ส่วนยอดซื้อที่ต่ำกว่าไม่นำมาพิจารณา จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏจากการตรวจสอบว่าน้ำมันประเภทใดมียอดซื้อต่ำกว่ายอดขายก็แสดงว่าเจ้าพนักงานหาหลักฐานเกี่ยวกับยอดซื้อของโจทก์ได้ไม่ครบ เมื่อไม่มีหลักฐานมายันจำเลยก็ย่อมจะประเมินเรียกเก็บภาษีในส่วนนั้นไม่ได้ เจ้าพนักงานจึงมิได้นำมาพิจารณาซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้วส่วนที่หาหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัดว่า จำนวนน้ำมันที่โจทก์ซื้อมามีมากกว่าจำนวนน้ำมันที่โจทก์ขายไปตามหลักฐานในใบเสร็จรับเงินบวกด้วยจำนวนน้ำมันคงเหลือ ย่อมแสดงว่า ส่วนที่มากกว่านั้นโจทก์ขายไปโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดง จึงนำจำนวนน้ำมันดังกล่าวมาประเมินภาษีเพิ่ม ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานนำเอาแต่เฉพาะยอดซื้อที่สูงกว่ายอดขายมาคำนวณภาษีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่าที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณราคาขายโดยถือเกณฑ์ว่าโจทก์ได้กำไรจากการขายน้ำมันลิตรละ 0.02 บาทนั้นไม่ถูกต้อง เพราะความจริงโจทก์ได้กำไรไม่ถึงลิตรละ 0.02 บาทพิเคราะห์แล้วในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินนายประวิทย์ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีว่า ยินยอมให้เพิ่มยอดขายต่อลิตรในอัตราลิตรละ0.02 บาท จากราคาขายที่แสดงไว้เดิม เมื่อโจทก์ยินยอมเช่นนี้แล้วโจทก์จะเถียงว่าการคำนวณราคาโดยถือเกณฑ์กำไรลิตรละ 0.02 บาทไม่ชอบหาได้ไม่อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share