คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9885/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 3 กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมทางหลวงและอธิบดีเพื่อเรียกค่าทดแทนเพิ่มได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 26วรรคแรกได้บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้มีสิทธิได้รับภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10ซึ่งโจทก์กับกรมทางหลวงได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามมาตรา 10เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535อันเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนฯ กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 8เมษายน 2535 และโจทก์ได้รับหนังสือของกรมทางหลวงให้ไปรับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ฉบับที่ 2 ต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535อันเป็นการอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 38791ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 400 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงคมนาคม มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินเนื้อที่ 315 ตารางวา ราคาตารางวาละ 1,500 บาทสำหรับที่ดินอีกส่วนเนื้อที่ 85 ตารางวา ราคาตารางวาละ 500 บาทรวมเป็นค่าทดแทน 515,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยให้เพิ่มค่าทดแทนแก่โจทก์ สำหรับที่ดินทั้งแปลงเป็นราคาตารางวาละ 3,250 บาท แต่การกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวก็ยังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะที่ดินของโจทก์ได้รับการพัฒนาแล้ว มีสาธารณูปโภคครบครัน มีราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตารางวาละ 22,000 บาท ถึง 40,000 บาท โจทก์จึงขอค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 22,000 บาท รวมเป็นค่าทดแทน8,800,000 บาท จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว1,300,000 บาท โจทก์ขอเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 7,500,000 บาทและดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินคือร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่28 เมษายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยแจ้งจำนวนค่าทดแทนให้โจทก์ทราบ คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 625,684 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 8,125,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ในต้นเงิน 7,500,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้กำหนดจำนวนค่าทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ ประกอบกับโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 8เมษายน 2535 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้ไปรับค่าทดแทน เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเท่ากับยังไม่มีการอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังได้กำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ3,250 บาท โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2531-2534 และนำราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2535 ไปพิจารณาประกอบด้วยโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่28 เมษายน 2535 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ก่อสร้าง ขยายบูรณะและบำรุงรักษาทางหลวง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 มีอำนาจทำการในนามของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว มาตรา 3 กำหนดให้จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ดังนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อเรียกค่าทดแทนเพิ่มได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนและจำเลยทั้งสองจะมิใช่ผู้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนก็ตาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าวและตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนฯ พ.ศ. 2532 ดังกล่าวกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 ตามเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 2แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับค่าทดแทน กล่าวคือ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 8เมษายน 2535 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้อุทธรณ์ฉบับแรกของโจทก์จะยื่นก่อนได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนก็ตามแต่ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนอีกครั้งหนึ่งซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนครั้งที่สองดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับที่สองต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 อันเป็นการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนงและแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิวเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน – ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 มิได้บัญญัติเรื่องการกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้ผู้มีสิทธิได้รับไว้เป็นพิเศษจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม คดีนี้โจทก์นำสืบว่าที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์และถูกเวนคืนเช่นเดียวกันเดิมได้ค่าทดแทนตารางวาละ 1,500บาท เมื่ออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วได้ค่าทดแทนเพิ่มเป็นตารางวาละ 12,000 บาท ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.10 ได้ความจากคำเบิกความของนายอุทัย เพิ่มสมบัติและนางสุธาทิพย์ พิทักษ์พยานจำเลยทั้งสองว่า ที่ดินได้รับค่าทดแทนเพิ่มกับที่ดินของโจทก์อยู่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ดินในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิเช่นเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้กำหนดราคาให้เหมือนกันคือตารางวาละ 1,500 บาท ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดราคาที่ดินซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 12,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองแปลงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 แล้ว การกำหนดค่าทดแทนของที่ดินทั้งสองแปลงสมควรกำหนดให้ใกล้เคียงกันจึงจะเกิดความเป็นธรรม ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำนวนค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามมาตรา 10เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.17 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 2กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share