คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ด้านหลังใบตราส่งมีข้อความเป็นเงื่อนไขของการขนส่งในข้อ 15 (2) เป็นภาษาอังกฤษว่า สินค้าไม่ว่าจะบรรจุในตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุในตู้สินค้า ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะนำสินค้าไปวางไว้บนปากระวางเรือได้ ถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ได้มีการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งแล้วว่า ผู้ขนส่งและผู้ส่งตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคสอง การนำสินค้าพิพาทบรรทุกบนปากระวางเรือ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยชัดแจ้งในการขนส่งในข้อที่ให้บรรทุกสินค้าในระวางเรือตาม พ.ร.บ.การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคห้า ซึ่งจะทำให้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1) อันจะทำให้ไม่อาจจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 หากมีกรณีที่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงระบุไว้ในใบตราส่งว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบรรทุกสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้ แต่เนื่องจากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าเครื่องจักรประเภท VACUUM DRYER พร้อมอุปกรณ์เป็นแบบ FLAT RACK มีลักษณะเปิด ตัวตู้สินค้ามีเพียงฐานวางสินค้า สินค้ามีขนาดความสูงและความกว้างเกินกว่าปกติ ทั้งสินค้ามีแผ่นพลาสติกและลังไม้ห่อหุ้มไว้เท่านั้น ตามวิสัยของผู้ประกอบการวิชาชีพที่ย่อมต้องทราบถึงระดับของความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าที่มีมากขึ้น ผู้ขนส่งจึงควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและสอบถามผู้ส่งให้ชัดแจ้งว่า ยังให้วางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางที่ต้องถูกน้ำทะเลซัดเป็นเวลานาน หรือจะให้วางใต้ระวางเรือตำแหน่งใดซึ่งจะต้องเสียค่าระวางเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนจัดวางตู้สินค้าพิพาทและได้จัดวางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางเรือในลักษณะที่มีความเสี่ยงกว่าปกติ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพของสินค้าพิพาทที่ตนรับขนส่ง เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะและเป็นสนิม จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ขนส่งมิได้ให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนแล้วสินค้าพิพาทปนเปื้อนน้ำทะเลได้รับความเสียหาย ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังมีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า สินค้าอาจไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยกข้อจำกัดความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,017,202.50 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 967,313 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 967,313 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ธันวาคม 2546) ต้องไม่เกิน 49,889.50 บาท ตามที่โจทก์ขอมา ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทซี.พี.แอล.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อได้สั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรประเภทเครื่องเป่าแห้ง (VACUUM DRYER) พร้อมอุปกรณ์จาก INDUSTRIE MECCANICHE BERGI – OFB S.P.A. ผู้ขายที่ประเทศอิตาลี ในราคารวมค่าระวาง (ซีแอนด์เอฟ) เป็นเงิน 143,000 ยูโร ผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวในแบบ FCL/FCL หมายความว่า ผู้ส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเองแล้วนำตู้สินค้าไปมอบให้ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง และเมื่อสินค้าเดินทางไปถึงท่าเรือปลายทาง ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่ไปรับตู้สินค้าที่สถานีตรวจปล่อยสินค้าที่ลาดกระบังนำไปเปิดที่ที่ทำการของผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่ง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าเครื่องจักรในระหว่างการขนส่ง ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยแบบคุ้มครองทุกประเภทไว้กับโจทก์ในวงเงินทุนประกันภัยจำนวน 6,919,627 บาท ในการบรรจุสินค้า เนื่องจากเครื่องจักรทำด้วยเหล็กมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ผู้ขายจัดการห่อหุ้มเครื่องจักรด้วยแผ่นพลาสติกทำลังไม้ปิดทึบห่อหุ้มเครื่องจักรแล้วจึงนำลังไม้บรรจุลงบนตู้สินค้าแบบ FLAT SLAC ขนาด 40 ฟุต x 9 ฟุต 6 นิ้ว แบบเปิดด้านบนและด้านข้าง คงมีเพียงฐานของตู้สินค้ารองรับลังสินค้าเครื่องจักรเท่านั้น ผู้ส่งนำตู้สินค้าบรรจุเครื่องจักรไปส่งให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำตู้สินค้าบรรทุกลงเรือ GERDIA และโดยวางตู้สินค้าบนปากระวางเรือออกเดินทางจากท่าเรือเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าขึ้นเรือสิงคโปร์ เบย์ ที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์ เดินทางมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย บริษัทซี.พี.แอล.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ ได้รับตู้สินค้าเครื่องจักรและได้เปิดลังสินค้าพบว่า เครื่องเป่าแห้งและชิ้นส่วนอะไหล่เปียกน้ำและขึ้นสนิมเนื่องจากถูกน้ำทะเลจนได้รับความเสียหาย จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ได้มอบหมายให้บริษัทยูไนเต็ดเซอเวย์เยอร์สแอนด์แอดจัสเตอร์ส จำกัด สำรวจความเสียหาย พบว่าเครื่องจักรและชิ้นส่วนได้รับความเสียหายเปียกน้ำทะเลและขึ้นสนิม อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เครื่องจักรและอุปกรณ์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ผู้ซื้อได้ทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายคิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 967,312.50 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์หลายประการ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 มีสิทธิวางสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้โดยชอบ ความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ส่งในการเลือกใช้ตู้สินค้าไม่เหมาะสมและไม่ทำการบรรจุหีบห่อสินค้าให้มิดชิดคลุมด้วยผ้าใบจึงทำให้เกิดสนิมขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหรือหากศาลพิจารณาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดก็ต้องรับผิดจำกัดจำนวนเงินตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกันโดยเห็นว่า สินค้าที่ขนส่งเป็นเครื่องจักรประเภทเครื่องเป่าแห้ง (VACUUM DRYER) ขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทำด้วยเหล็กมีน้ำหนักสุทธิถึง 10,010 กิโลกรัม โจทก์มีทนายโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าพยานเป็นทนายความที่ดูแลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการประกันภัยสินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศ โดยรับว่าความและให้คำปรึกษาด้านนี้มาประมาณ 10 ปีแล้ว สินค้าเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ถูกบรรจุอยู่ในลังไม้ปิดทึบขนาด 840 x 318 x 280 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่และสูงกว่าตู้สินค้าขนาดมาตรฐานทั่วไป ดังนั้น การขนส่งสินค้ารายนี้ต้องใช้ตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษ จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหาตู้สินค้าขนาด 9 ฟุต 6 นิ้ว แบบ FLAT ชนิดเปิดด้านข้างมาให้ผู้ส่งโดยพยานจำเลยทั้งสองก็เบิกความเป็นทำนองเดียวกัน จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ดังที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวซึ่งย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสองตกลงรับขนส่งสินค้ารายนี้โดยใช้ตู้สินค้าที่ตนเองจัดส่งมาให้ผู้ส่ง เมื่อผู้ส่งรับตู้สินค้าไปบรรจุสินค้าโดยนำเครื่องจักรซึ่งห่อหุ้มด้วยลังไม้นำไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็รับมอบตู้สินค้าไว้เพื่อการขนส่ง และได้ออกใบตราส่งชนิดที่เรียกว่า CLEAN B/L โดยไม่มีหมายเหตุใด และโจทก์มีผู้สำรวจภัยของบริษัทยูไนเต็ดเซอเวย์เยอร์สแอนด์แอดจัสเตอร์ส จำกัด เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำ ยืนยันข้อเท็จจริงว่า สินค้าได้ถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะบรรจุใส่ลังไม้และลังไม้ก็ได้ตอกตะปูอย่างดีมิดชิดเหมาะสมกับการขนส่งสินค้าทางทะเล และถือเป็นการหีบห่อสินค้าในลักษณะนี้เป็นปกติทั่วไปสอดคล้องกับรูปถ่ายสภาพสินค้าขณะแกะลังออกสำรวจความเสียหาย สามารถมองเห็นสภาพลังไม้และสภาพเครื่องจักรที่ห่อหุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใสอย่างหนา จึงฟังได้ว่า ผู้ส่งบรรจุหีบห่อสินค้าได้ดีพอสมควร หากระหว่างการขนส่งไม่ถูกน้ำทะเลในปริมาณที่มากและยาวนานก็น่าจะเพียงพอป้องกันความเสียหายจากการถูกน้ำทะเลจนเกิดสนิมขึ้นได้ ทั้งเมื่อผู้ส่งนำตู้สินค้าที่บรรจุเครื่องจักรที่หีบห่อคลุมด้วยพลาสติกใสอยู่ในลังไม้ที่ตีทึบปิดแน่น จำเลยทั้งสองก็รับไว้เพื่อการขนส่งโดยออกใบตราส่งให้ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยไม่มีหมายเหตุหรือข้อโต้แย้งอย่างใด ฟังได้ว่าผู้ส่งทำการบรรจุหีบห่อมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับสภาพแห่งสินค้าที่จะทำการขนส่งแล้วอย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ด้านหลังใบตราส่งมีข้อความเป็นเงื่อนไขของการขนส่งในข้อ 15 (2) เป็นภาษาอังกฤษซึ่งพยานโจทก์ก็เบิกความรับว่าแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สินค้าไม่ว่าจะบรรจุในตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุในตู้สินค้า ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะนำสินค้าไปวางไว้บนปากระวางเรือได้ ถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ได้มีการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งแล้วว่า ผู้ขนส่งและผู้ส่งตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคสอง การนำสินค้าพิพาทบรรทุกบนปากระวางเรือ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยชัดแจ้งในการขนส่งในข้อที่ให้บรรทุกสินค้าในระวางเรือตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคห้า ซึ่งจะทำให้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1) อันจะทำให้ไม่อาจจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 หากมีกรณีที่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การบรรทุกสินค้าบนปากระวางในครั้งพิพาทเป็นการจัดระวางบรรทุกไม่เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งสินค้าที่รับขนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทมีข้อตกลงบันทึกไว้ในใบตราส่งให้ผู้ขนส่งมีอำนาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ซึ่งผู้ส่งย่อมต้องทราบดี ดังนั้น เมื่อผู้ส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าไปบรรจุสินค้า การที่ผู้ส่งทำการหีบห่อสินค้าเครื่องจักรโดยใช้แผ่นพลาสติกอย่างหนาคลุมเครื่องจักร ก่อนนำเข้าบรรจุในลังไม้ตีปิดทึบในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เครื่องจักรถูกน้ำ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ควรจะต้องทราบจากสภาพของสินค้าและการบรรจุหีบห่อดังกล่าวว่าหากถูกน้ำและความชื้นในระหว่างการขนส่งในปริมาณที่มากและยาวนานย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวางไว้บนปากระวางเรือซึ่งเป็นที่โล่งแจ้งในระยะเวลาเดินทางที่ยาวนานถึงกว่าหนึ่งเดือน ย่อมมีความเสี่ยงสูงจากฝนที่อาจตกลงมาหรือน้ำทะเลที่อาจซัดขึ้นมาได้ ผู้ขนส่งย่อมต้องเห็นลักษณะภายนอกของลังสินค้าและสามารถเห็นได้ว่าสินค้าพิพาทสูงและกว้างเกินขนาด จึงจัดวางแบบปกติไม่ได้เพราะจะกินเนื้อที่ของบริเวณข้าง ๆ ซึ่งจะมีค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ขนส่งต้องถามผู้ส่งว่าจะให้วางสินค้าพิพาท ณ ตำแหน่งใดโดยหากวางชั้นบนสุดของตู้สินค้าซึ่งจะไม่มีตู้สินค้าข้าง ๆ อาจไม่ต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แต่หากต้องการวางในระวางหรือบนฝาระวางในชั้นล่าง ๆ ซึ่งจะกินเนื้อที่ของตู้สินค้าด้านข้างและด้านบน ผู้ส่งก็ต้องเสียค่าระวางเพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขนส่งจัดการโดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ส่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงระบุไว้ในใบตราส่งว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบรรทุกสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้ แต่เนื่องจากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นแบบ FLAT RACK มีลักษณะเปิด ตัวตู้สินค้ามีเพียงฐานวางสินค้า สินค้ามีขนาดความสูงและความกว้างเกินกว่าปกติ ทั้งสินค้ามีแผ่นพลาสติกและลังไม้ห่อหุ้มไว้เท่านั้น ตามวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพที่ย่อมต้องทราบถึงระดับของความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าที่มีมากขึ้นได้หรือไม่ ผู้ขนส่งจึงควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและสอบถามผู้ส่งให้ชัดแจ้งว่ายังให้วางตู้สินค้าพิพาทบนระวางหรือจะให้วางใต้ระวางเรือตำแหน่งใดซึ่งจะต้องเสียค่าระวางเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนจัดวางตู้สินค้าพิพาทและได้จัดวางตู้สินค้าพิพาทบนระวางเรือในลักษณะเช่นนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพของสินค้าพิพาทที่ตนรับขนส่ง เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะและเป็นสนิม คิดเป็นค่าเสียหาย 967,312.50 บาท จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ขนส่งมิได้ให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนแล้วสินค้าพิพาทปนเปื้อนน้ำทะเลได้รับความเสียหาย ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังมีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่าสินค้าอาจไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยกข้อจำกัดความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า สินค้าพิพาทมี 1 หน่วยการขนส่ง มีน้ำหนักสุทธิ 10,010 กิโลกรัม ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องคำนวณตามน้ำหนักของสินค้าพิพาทเพราะมีจำนวนมากกว่าคำนวณจากหน่วยการขนส่งเป็นเงิน 300,300 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 300,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share