คำวินิจฉัยที่ 54/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๔/๒๕๕๕

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปากพนัง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ นายเจริญวิทย์ พินิจพุทธพงศ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ดาบตำรวจ ฤทธิรงค์ ออสปอนพันธ์ ที่ ๑ นายหมู ออสปอนพันธ์ ที่ ๒ นางอำนวย เหมทานนท์ ที่ ๓ พันตำรวจเอก นริศ สุนทรโรจน์ ที่ ๔ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ ๕ ร้อยตำรวจโท ธนนันท์ ทองจันทร์ ที่ ๖ พันตำรวจโท พีระพงศ์ ยอดสุรางค์ ที่ ๗ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๘ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๗/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ฟ้องคดีรับราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านศรีสมบูรณ์ อำเภอปากพนัง ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือที่ ๑ – ๒/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยให้ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ร่วมกันจ้างวาน ยุยงให้บุคคลอื่นมาทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีตายโดยหวังจะรับบำเหน็จบำนาญของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือที่ ๓ – ๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๑ วันที่ ๑ และ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ และวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ในระหว่างนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปพบและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๓ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีปลอมแปลง ดัดแปลง หรือแก้ไขเอกสารที่ใช้ในการประเมิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ แจ้งข้อหาดังกล่าวกับ ผู้ฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เพราะคณะกรรมการประเมินมิได้เป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดี และเอกสารที่คณะกรรมการประเมินนำมากล่าวหาผู้ฟ้องคดีก็เป็นเอกสารปฏิบัติงานภายในโรงเรียนที่คณะกรรมการประเมินขโมยมา และนอกจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ จะได้แจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสารแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ยังได้มีหมายเรียกลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ให้ผู้ฟ้องคดีไปมอบตัวในคดีอาญาที่ ๑๔๗ (ส)/๕๑ ด้วย อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร โดยการนำสำเนาเอกสารที่มีข้อความว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไปมีความสัมพันธ์กับภรรยาผู้ฟ้องคดีจนมีบุตรด้วยกันออกเผยแพร่ให้ผู้อื่นรับทราบ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ แจ้งข้อหาดังกล่าวต่อผู้ฟ้องคดี เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เพราะเอกสารหลักฐานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีนำมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ นั้น เป็นเอกสารประกอบหนังสือลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่ผู้ฟ้องคดีมีถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะต้องเก็บเป็นความลับ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากข้อกล่าวหาของ ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ กระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายในทางอาญา และกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ กับที่ ๗ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ กระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการกระทำละเมิดที่เกิดจากเหตุดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองตามกฎหมายหรือจากกฎ หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นคดีละเมิดที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายอาญาไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และ ที่ ๕ โดยเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีได้หมดสิ้นไปแล้ว และมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ โดยเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ เป็นการใช้อำนาจตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นอำนาจปกครองทั่วไปอันเป็นอำนาจดั้งเดิม แม้อำนาจดังกล่าวจะถูกนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะ ก็ไม่ได้ทำให้การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจอื่น การใช้อำนาจดังกล่าวยังคงเป็นการใช้อำนาจปกครองอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวเมื่อถูกอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบกระทำละเมิดต่อ ผู้ฟ้องคดี การกระทำละเมิดดังกล่าวก็ย่อมเป็นการกระทำละเมิดทางปกครอง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง การกระทำละเมิดจากการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ถึงที่ ๗ นั้น ย่อมถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมในคดีนี้ด้วย
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาในคดีในฐานะผู้ร้องสอด โดยเรียกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ และให้ทำคำให้การ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๘ ทำคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นการดำเนินการในฐานะพนักงานสอบสวนตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ แจ้งข้อกล่าวหาผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสารและ หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเอกสารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ เป็นการใช้อำนาจตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นอำนาจปกครองทั่วไปอันเป็นอำนาจดั้งเดิม แม้อำนาจดังกล่าวจะถูกนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะก็ไม่ทำให้การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจอื่น การใช้อำนาจดังกล่าวยังคงเป็นอำนาจปกครองอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวเมื่อถูกอ้างว่าเป็นการใช้โดยไม่ชอบ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี การกระทำละเมิดดังกล่าวก็ย่อมเป็นการกระทำละเมิดทางปกครอง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง การกระทำละเมิดจากการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ นั้น ย่อมถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ศาลจังหวัดปากพนังพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ ไปแล้ว ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสาร โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเรียกค่าเสียหาย และผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเรียกค่าเสียหาย เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดอาญานั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนในคดีอาญาของพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดคดีอาญา ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ ๒ การสอบสวน หมวด ๑ การสอบสวนสามัญ มาตรา ๑๓๔ กำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง มิใช่การรักษาความสงบเรียบร้อย อันเป็นอำนาจปกครองทั่วไปของตำรวจ อีกทั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทหรือความเสียหายขึ้นจึงต้องอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรมว่า การแจ้งข้อหาอันเป็นขั้นตอนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผู้ฟ้องคดีเสียหายเพียงใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยให้ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้ร่วมกันจ้างวาน ยุยงให้บุคคลอื่นมาทำร้ายร่างกายให้ถึงแก่ความตายโดยหวังจะรับบำเหน็จบำนาญของผู้ฟ้องคดี แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงมีหนังสือร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ในระหว่างนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปพบและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสาร ตามที่คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๓ ได้ร้องทุกข์ไว้ ทั้งที่คณะกรรมการประเมินมิได้เป็นผู้เสียหาย และเอกสารที่นำมากล่าวหาก็เป็นเอกสารปฏิบัติงานภายในโรงเรียนที่คณะกรรมการประเมินขโมยมา การแจ้งข้อหาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี นอกจากนั้นผู้ถูกฟ้องดคีที่ ๗ ยังได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปมอบตัวในคดีอาญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร โดยการนำสำเนาเอกสารที่มีข้อความว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไปมีความสัมพันธ์กับภรรยาผู้ฟ้องคดีจนมีบุตรด้วยกันออกเผยแพร่ให้ผู้อื่นรับทราบ ทั้งที่เป็นเอกสารประกอบที่ ผู้ฟ้องคดีมีถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะต้องเก็บเป็นความลับ การแจ้งข้อหาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีเช่นกัน จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ กระทำละเมิดที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายในทางอาญา และกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ กับที่ ๗ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ กระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ถือเป็นคดีปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีสำหรับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ และมีคำสั่งให้รับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ เป็นการใช้อำนาจตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นอำนาจปกครองทั่วไป อันเป็นอำนาจดั้งเดิม แม้จะถูกนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะก็ตาม และให้ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ และที่ ๗ เข้ามาในคดีด้วย เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ในฐานะพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปพบและแจ้งข้อหาว่า ผู้ฟ้องคดีปลอมแปลงเอกสารตามที่มีผู้ร้องทุกข์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ในฐานะพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปมอบตัวในคดีอาญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาผู้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร นั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนการสอบสวนในคดีอาญาของพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การฟ้องคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดคดีอาญา ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเจริญวิทย์ พินิจพุทธพงศ์ ผู้ฟ้องคดี ร้อยตำรวจโท ธนนันท์ ทองจันทร์ ที่ ๖ พันตำรวจโท พีระพงศ์ ยอดสุรางค์ ที่ ๗ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๘ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share