คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13104/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีฐานะเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยฯ การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ สิ้นสุดลง หามีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 สิ้นลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครอง ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป
แม้ในระหว่างพิจารณาคดีได้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ก็ยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง (1) ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 44, 90, 101 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 44 (1), 101 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี และปรับ 100,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิจารณาสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า การรอการลงโทษจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขจำเลยให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีมากกว่าการลงโทษจำคุก โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง มีผลให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ถูกยกเลิกไปด้วย เป็นผลให้สิทธินำคดีนี้มาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้แยกมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าวกำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง หามีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 สิ้นลงตามไปด้วยไม่ อีกทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ข้อ 4 ยังได้บัญญัติด้วยว่า “ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” อันเป็นการรับรองให้กฎหมายทั้งปวงที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนการปฏิรูปการปกครองยังมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังมีผลใช้บังคับต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ถูกยกเลิกไปด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แม้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ออกมาใช้บังคับโดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ก็ยังคงบัญญัติให้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง (1) ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องของโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ตามที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาใหม่ เห็นว่า โจทก์มีนางมลิและนางชินเบิกความเป็นพยานโจทก์ทำนองเดียวกันว่า ก่อนวันเลือกตั้งวันที่ 29 มกราคม 2544 จำเลยได้มาหาพยานที่บ้านแล้วให้เงินแก่พยานคนละ 100 บาท จากนั้นได้บอกว่าอย่าลืมเบอร์ 9 ซึ่งหมายถึงนายศักดิ์ชัย ต่อมามีคนมาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมาสอบปากคำเรื่องการให้เงินดังกล่าว จึงเดินทางไปให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่โรงสี ซึ่งอยู่ที่อำเภอเดชอุดม นางมลิ ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า เคยมีเรื่องทะเลาะกับจำเลยเมื่อ 4 ปี ก่อนมีการเลือกตั้ง ส่วนนางชินเบิกความรับว่าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่จัดตั้งพรรคจนถึงปัจจุบันและเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า นางมลิเป็นผู้สนับสนุนนายกิตติพงศ์ ใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายกิตติพงศ์ระบุว่าสังกัดพรรคไทยรักไทย นอกจากนี้ได้ความจากพันตำรวจโทพยุง พนักงานสอบสวนคดีนี้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นางมลิและนางชินให้การต่อพยานว่ามีคนของพรรคไทยรักไทยมาสอบถามว่ามีใครรับเงินหรือไม่และจะสมัครใจไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ และนอกจากนี้นางมลิได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่านางมลิเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และฟังได้ว่านางมลิและนางชินเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งดังกล่าวพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคคู่แข่งกับพรรคที่นายศักดิ์ชัยสังกัดและที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุน คำเบิกความของนางมลิและนางชินจึงเป็นคำเบิกความจากพยานที่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน และมีส่วนได้เสียในการสนับสนุนบุคคลเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว จึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจมีการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งอันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นเช่นมีภาพถ่ายบันทึก ขณะที่มีการแจกจ่ายเงินหรือสิ่งของเพื่อจูงใจ หรือมีประจักษ์พยานหรือพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักที่น่ารับฟัง ลำพังแต่ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานทั้งสองดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ยังมีเหตุอันควรสงสัยไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share