คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพื่อใช้สิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 นั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจึงเป็นเรื่องเฉพาะของตัวโจทก์เท่านั้น ไม่มีผลถึงโจทก์ร่วมแต่อย่างใด
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอ้างว่า คดีมีเอกสารมากมายและมีความซับซ้อน ทนายความโจทก์ร่วมต้องใช้ระยะเวลาเพื่อรวบรวมถ้อยคำสำนวนและพยานเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์ร่วม และติดต่อพนักงานอัยการเพื่อรวบรวมถ้อยคำสำนวนให้ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ร่วม ถือเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ร่วมที่ไม่รวบรวมเอกสารเพื่อทำฎีกายื่นต่อศาลแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ครั้นวันที่ 15 ธันวาคม 2552 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกามีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ร่วมไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาไว้ เพิ่งยื่นคำร้องครั้งนี้เป็นครั้งแรก เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาโดยไม่มีเหตุสุดวิสัย ยกคำร้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์ร่วมหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่าสิทธิในการดำเนินคดีของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นอันเดียวกันและไม่สามารถแบ่งแยกกันได้การฟ้องคดีของโจทก์ถือว่าฟ้องแทนโจทก์ร่วม การใช้สิทธิของโจทก์จึงถือว่าเป็นการทำแทนโจทก์ร่วม การขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาจึงเป็นการใช้สิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยแท้ที่ถูกใช้โดยพนักงานอัยการเป็นสิทธิที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมิใช่เป็นสิทธิของโจทก์แต่ละคน เมื่อโจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครบกำหนดวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จึงถือว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมสามารถที่จะรับเอาประโยชน์จากการกระทำนั้นได้เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (14) ให้ความหมายของคำว่า “โจทก์” ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน และโจทก์ร่วมเข้ามาดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ก็ตาม แต่สิทธิในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพื่อใช้สิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 นั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์เท่านั้น ไม่มีผลถึงโจทก์ร่วมแต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อสิ้นระยะเวลาฎีกาสำหรับโจทก์ร่วมแล้ว ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้เฉพาะเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอ้างว่า คดีมีเอกสารมากมายและมีความซับซ้อน ทนายความโจทก์ร่วมต้องใช้ระยะเวลาเพื่อรวบรวมถ้อยคำสำนวนและพยานเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์ร่วม และติดต่อพนักงานอัยการเพื่อรวบรวมถ้อยคำสำนวนให้ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ร่วม ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ร่วมที่ไม่รวบรวมเอกสารเพื่อทำฎีกายื่นต่อศาลแต่เนิ่น ๆ กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share