คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก
จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 31, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 47, 54, 81, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และสั่งริบแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของกลาง 782 แผ่น ให้แผ่นวีดิทัศน์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลาง 507 แผ่นตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กับจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 47, 54, 81, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 110,000 บาท ฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตลงโทษปรับ 100,000 บาท กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ลงโทษปรับ 20,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 6 เดือน และปรับ 230,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 115,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ ที่ให้ริบแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น ของกลางที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิด 3 ข้อหา คือ ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 กับขอให้ริบแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของกลาง 782 แผ่น ด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังยุติตามฟ้องโจทก์ วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ของกลางที่เป็นวีดิทัศน์ 782 แผ่น ดังกล่าวนั้น เป็นทรัพย์สินอันพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 หรือมาตรา 33 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ดังกล่าวออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตด้วยจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้านั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม เนื้อร้องและทำนองเพลงของผู้เสียหาย โดยการทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงตามบัญชีทรัพย์ของกลางเอกสารท้ายคำฟ้อง บันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะ-ภาพยนตร์และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดนตรีกรรมเนื้อร้องและทำนองเพลงดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นต้นแก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง การที่จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวโดยมีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้ดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1), 69 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 3 เดือน และปรับ 105,000 บาท ยกคำขอให้ริบแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share