คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6202/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2548 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ระหว่างวันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยผลิตด้วยวิธีการผสมและแบ่งบรรจุวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ของกลาง จากนั้นจำเลยได้ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ดังกล่าวซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม เพื่อนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีคำขอท้ายฟ้องระบุกฎหมายที่จำเลยกระทำความผิดและบทมาตราที่ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 18, 23, 45 (1), 73, 75 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 12, 57 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 272 (1) ริบวัตถุอันตราย อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ปุ๋ยเคมี และสลากของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาผลิตเพื่อการค้าซึ่งปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 73 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 57 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 30,000 บาท ฐานผลิตเพื่อการค้าซึ่งปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานผลิตเพื่อการค้าซึ่งปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 45 (1), 73, 75 (ที่ถูก 75 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 57 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอมไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานเอาชื่อในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่หีบห่อสินค้าของตนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น จำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 4 เดือน ไม่ปรับ และไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วย พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดฐานมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหาเคลือบคลุมไม่ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมโดยผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตหลายรายการในปริมาณมาก และมีปุ๋ยเคมีไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งเอาชื่อในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าหีบห่อของตนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรทั่วไป ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรและอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์หรือสิ่งแวดล้อมได้ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยจะไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมี ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยการมีปุ๋ยเคมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้านั้น แม้ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มาตรา 7 ยกเลิกความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยตัดคำว่า “มีไว้เพื่อขาย” ออก แต่พระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ได้ยกเลิกความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติเพิ่มเติมนิยามคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย กรณีไม่อาจถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลย นอกจากนี้แม้พระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มาตรา 36 ได้ยกเลิกความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 อีกด้วย และให้ใช้ความใหม่แทน โดยโทษปรับสูงกว่ากฎหมายเก่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้
พิพากษายืน

Share