คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5952/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกำหนดว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทที่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ซื้อคืนจากโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยขนย้ายรวมทั้งรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวอ้างว่ามิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝากและมิใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอน เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์กลับแถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ยิ่งกว่านั้นในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านดังกล่าวของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโดยเร็ว จำเลยกลับเป็นฝ่ายแถลงขอเวลาขนย้ายบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าหากจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยรื้อบ้านทั้งสองเลขที่ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วย จำเลยจะมากล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นการนอกเหนือไปจากคำฟ้องหรือเกินคำขอมิได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประวิงการบังคับคดีของโจทก์ให้ชักช้า
ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์บังคับคดีเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ตามยอมวันที่ 24 มีนาคม 2544 นั้น เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยปิดประกาศให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 30 มกราคม 2546 อันอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เมื่อการบังคับคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมายังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยซื้อทรัพย์ที่ขายฝากโฉนดเลขที่ 103403 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขง กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 20/5 หมู่ที่ 7 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นเงินจำนวน 23,400,000 บาท คืนภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ กับยอมชำระค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียม หากจำเลยไม่ปฏิบัติหรือผิดนัดชำระค่าเสียหายเดือนหนึ่งเดือนใดให้ถือว่าผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 และบ้านเลขที่ 20/5 ดังกล่าว พร้อมชำระค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้วเสร็จ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม วันที่ 3 มกราคม 2546 โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 9 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยและบริวารรวม 4 คน ศาลชั้นต้นให้ออกหมายเรียกจำเลยและบริวารมาสอบถาม วันนัดสอบถามวันที่ 4 เมษายน 2546 จำเลยขอเวลาขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทภายในเดือนมิถุนายน 2546 โดยโจทก์ยินยอม ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อให้คู่ความมาแถลงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 วันนัดพร้อมวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 โจทก์แถลงว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย วันเดียวกันจำเลยยื่นคำแถลงว่า จำเลยรื้อถอนและขนย้ายออกจากทรัพย์พิพาทเสร็จสิ้น และจะดำเนินการย้ายทะเบียนออกจากบ้านเลขที่ 20/5 กับยื่นคำร้องอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอนบ้านและโรงเรือนเลขที่ 20/1 (236) และเลขที่ 20/10 (242) แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมิใช่ส่วนควบของที่ดินและมิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 (236) และเลขที่ 20/10 (242) ดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนตามคำแถลงและคำร้องของจำเลย
วันนัดไต่สวนวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายตามคำแถลงและคำร้องของจำเลย โจทก์แถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 (236) และเลขที่ 20/10 (242) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนและมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 และเลขที่ 20/10 และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ภายใน 10 วัน นับแต่วันมีคำสั่งนี้ หากไม่ปฏิบัติศาลจะมีคำสั่งถอนประกันและกักขังจำเลยตามกฎหมาย วันที่ 15 สิงหาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันและให้จำเลยมาศาลภายใน 3 วัน นับแต่วันรับหมาย หากพ้นกำหนดจะปรับตามสัญญาและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ วันที่ 25 สิงหาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่า หมายบังคับคดีมิได้ระบุให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 (236) และเลขที่ 20/10 (242) ด้วย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 (236) และเลขที่ 20/10 (242) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยประวิงการรื้อถอนตลอดมา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการรื้อถอนโดยเร็วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ วันที่ 1 กันยายน 2546 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องของจำเลยไม่มีลักษณะเป็นอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และในวันนัดอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยแถลงขอเวลาขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท โดยโจทก์ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกไปทั้งหมด ศาลชั้นต้นให้นัดสอบถามผลการปฏิบัติวันที่ 31 มีนาคม 2547 ในวันนัดพร้อมจำเลยแถลงขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ในราคา 25,000,000 บาท คู่ความขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสอบถามวันที่ 7 เมษายน 2547 ในวันนัดต่อ ๆ มาวันที่ 17 มิถุนายน 2547 คู่ความแถลงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยแถลงว่าขอเวลารื้อถอนทรัพย์สินและขนย้ายบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 หากพ้นกำหนดยินดีให้โจทก์ดำเนินการบังคับต่อไปทันที ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อฟังผลการปฏิบัติตามคำพิพากษาของจำเลยวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่สามารถรื้อถอนได้ทัน ขณะนี้จำเลยขอสินเชื่อเพื่อจะนำเงินมาซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ ขอเลื่อนคดี โจทก์แถลงไม่ตกลงและคัดค้านที่จำเลยขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ปรับนายประกันเต็มตามสัญญา จำเลยและนายประกันอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยและผู้ประกันฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 วันที่ 11 เมษายน 2556 เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์แถลงว่าจำเลย นางมะลิ นางสาวรัชนี นางสาวปรานี และนางสาวสุพรรณี ซึ่งเป็นบริวารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้ออกหมายจับกุมและกักขังจำเลยและบริวารดังกล่าว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยและบริวารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายจับจำเลยและบริวารตามขอ
วันที่ 21 สิงหาคม 2556 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/5 หมู่ที่ 7 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ที่ขายฝากพร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 ออกไปจากที่ดินที่ขายฝากดังกล่าวแล้ว ส่วนบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ที่จำเลยและบริวารพักอาศัยมิใช่บ้านที่ขายฝาก ขอให้เพิกถอนหมายจับจำเลยและบริวาร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า บ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 ที่โจทก์สามารถใช้สิทธิบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ เมื่อจำเลยและบริวารไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี โจทก์ชอบที่จะแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยและบริวารได้ จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายจับ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท เพราะเกินคำฟ้องและนอกประเด็นที่พิพาทกัน ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยขายฝากแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกำหนดว่าหากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 103403 ของโจทก์ เมื่อบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทที่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ซื้อคืนจากโจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยขนย้ายรวมทั้งรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ทั้งจำเลยเคยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนบ้านดังกล่าวอ้างว่ามิใช่ทรัพย์สินตามสัญญาขายฝากและมิใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอน เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์กลับแถลงว่าไม่เคยขัดขวางมิให้จำเลยรื้อถอนตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ยิ่งกว่านั้นในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านดังกล่าวของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทโดยเร็วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยกลับเป็นฝ่ายแถลงขอเวลาขนย้ายบ้านเลขที่ 20/1 หรือ 236 และเลขที่ 20/10 หรือ 242 ออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ก็ยินดีให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด แสดงว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าหากจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยรื้อบ้านทั้งสองเลขที่ดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ด้วย จำเลยจะมากล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นการนอกเหนือไปจากคำฟ้องหรือเกินคำขอมิได้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาประวิงการบังคับคดีของโจทก์ให้ชักช้า ฎีกาของจำเลยที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์บังคับคดีเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามยอมวันที่ 24 มีนาคม 2544 นั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยปิดประกาศให้ขับไล่จำเลยและบริวารรวมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 30 มกราคม 2546 อันอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อการบังคับคดีได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมายังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีไปแล้วก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งแก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share