แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์สั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวเป็นบางวันเป็นระยะๆ อ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงซึ่งไม่มีความแน่นอน แม้โจทก์จะอ้างว่าลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้าเป็นรายสัปดาห์โจทก์จะทราบการสั่งซื้อล่วงหน้าเพียง 3 วัน ถึง 5 วัน ก็เป็นเรื่องปกติของการค้าที่อาจจะมีความไม่แน่นอนบ้าง โจทก์ควรจะต้องวางแผนการบริหารกิจการของโจทก์ล่วงหน้า มิใช่นำสาเหตุดังกล่าวมาสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราว จึงยังมิใช่เหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตเบาะรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์หนังเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ ในลักษณะของคำสั่งการผลิตเป็นรายสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 โจทก์ประสบปัญหาเนื่องจากลูกค้าบางรายส่วนใหญ่สั่งหยุดการผลิตกะทันหัน ทั้งโจทก์ไม่มีวัตถุดิบที่จะสามารถผลิตส่งลูกค้าอื่นได้ ด้วยเหตุจำเป็นดังกล่าวเพื่อให้การประกอบกิจการของโจทก์และการทำงานของลูกจ้างคงมีอยู่ต่อไป จึงแจ้งให้ลูกจ้างทราบและหยุดทำงานชั่วคราวในบางแผนกเฉพาะสายการผลิตที่ไม่มีคำสั่งการผลิตแล้วจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราร้อยละห้าสิบ ต่อมาลูกจ้างที่โจทก์สั่งให้หยุดทำงานชั่วคราวไปร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 20/2548 ลงวันที่ 27 เมษายน 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่นางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน เป็นค่าจ้างในวันที่สั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวส่วนที่ขาดอยู่ร้อยละห้าสิบเป็นเงิน 69,237.50 บาท ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่ง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 20/2548
จำเลยให้การว่าคำสั่งของจำเลยชอบแล้วกล่าวคือ การที่โจทก์ให้นางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างหยุดทำงานเฉพาะบางวันเดือนมีนาคม 2547 หยุดทำงานในวันที่ 15, 20, 22, 23 เดือนเมษายน 2547 หยุดทำงานในวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม 2547 หยุดทำงานในวันที่ 14, 15, 17, 18, 22, และ 24 และเดือนมิถุนายน 2547 หยุดทำงานในวันที่ 1, 5, 7, 8, 11, 14, 15, 19 และ 21 การสั่งหยุดทำงานดังกล่าวมิใช่เป็นการหยุดชั่วคราว การที่โจทก์แจ้งการหยุดทำงานให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเพียงหนึ่งวันหรือสองวัน เป็นการแจ้งโดยกระทันหัน เพราะโจทก์ทราบการสั่งสินค้าจากลูกค้าล่วงหน้าอยู่แล้ว และการที่โจทก์ไม่ได้แจ้งคำสั่งการหยุดงานให้จำเลยหรือพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้า คำสั่งของโจทก์ที่ให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยแถลงสละประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ยื่นคำฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 แล้ว ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 20/2548 ลงวันที่ 27 เมษายน 2548 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่นางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน เป็นเงิน 69,237.50 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตเบาะรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์หนังส่งออกจำหน่ายต่างประเทศตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ ลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นรายสัปดาห์โดยจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าประมาณ 3 วัน ถึง 5 วัน เมื่อปี 2547 โจทก์สั่งให้นางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวในเดือนมีนาคม รวม 4 วัน คือวันที่ 15, 20, 22, และ 23 เดือนเมษายน หยุดทำงาน 1 วัน คือวันที่ 19 เดือนพฤษภาคมหยุดทำงาน 6 วัน คือวันที่ 14, 15, 17, 18, 22 และ 24 เดือนมิถุนายนหยุดทำงาน 9 วัน คือวันที่ 1, 5, 7, 8, 11, 14, 15, 19 และ 21 การหยุดทำงานดังกล่าวโจทก์แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเพียงหนึ่งหรือสองวัน และโจทก์ไม่ได้แจ้งคำสั่งหยุดงานให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ สาเหตุที่โจทก์ให้ลูกจ้างดังกล่าวหยุดงานเนื่องจากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าลดลง การหยุดงานจะให้หยุดเฉพาะแผนกที่มีคำสั่งซื้อสินค้าลดลงและจะผลัดหมุนเวียนกันไป โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่โจทก์ให้หยุดงานชั่วคราวในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างปกติ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์มีคำสั่งให้นางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์หยุดงานชั่วคราวเป็นบางวันในเดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 โดยจ่ายค่าจ้างให้ในอัตราร้อยละห้าสิบนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน” บทบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างยังมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนอีกต่อไปเพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียวแทนที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน สำหรับความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ มิใช่เป็นแต่เพียงความจำเป็นทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบแก่กิจการของนายจ้างมากนัก อีกทั้งระยะเวลาในการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวจะต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนติดต่อกันอย่างพอสมควร ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์สั่งให้ลูกจ้างคือนางสาวประกอบกับพวกรวม 73 คน หยุดทำงานชั่วคราวเป็นบางวันเป็นระยะ ๆ โดยเดือนมีนาคม 2547 หยุดทำงานรวม 4 วัน คือวันที่ 15, 20, 22, และ 23 เดือนเมษายน 2547 หยุดทำงาน 1 วัน คือวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม 2547 หยุดทำงานรวม 6 วัน คือวันที่ 14, 15, 17, 18, 22 และ 24 เดือนมิถุนายน 2547 หยุดทำงานรวม 9 วัน คือวันที่ 1, 5, 7, 8, 11, 14, 15, 19, และ 21 การหยุดทำงานชั่วคราวดังกล่าวโจทก์แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเพียงหนึ่งหรือสองวันเท่านั้น และสาเหตุที่โจทก์ให้ลูกจ้างหยุดงานเนื่องจากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าลดลงลักษณะการสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวของโจทก์ดังกล่าวเป็นการหยุดงานเป็นบางวันเป็นระยะ ๆ ตามที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลงซึ่งไม่มีความแน่นอน แม้โจทก์จะอ้างว่าลูกค้าจะสั่งซื้อสินค้าเป็นรายสัปดาห์ โจทก์จะทราบการสั่งซื้อล่วงหน้าเพียง 3 วัน ถึง 5 วันก็ตาม ก็เป็นเรื่องปกติของการค้าที่อาจจะมีความไม่แน่นอนบ้าง โจทก์ควรจะต้องวางแผนการบริหารกิจการของโจทก์ล่วงหน้ามิใช่นำสาเหตุดังกล่าวมาสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำงานชั่วคราวเป็นบางวันเป็นระยะๆ เช่นนี้ ตามข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์อ้างนั้นยังมิใช่เหตุจำเป็นถึงขนาดต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้แต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดอยู่ร้อยละห้าสิบแก่ลูกจ้างชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง