คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8269/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์บางส่วนและเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ตามคำขอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อที่ดินมีราคาเพียง 9,200 บาท ทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา โดยมีสิทธิร่วมกับนางเป้า นางถนัด นายมนัสและนายมานพ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 92 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ให้แก่จำเลยที่ 2 ครั้นเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2538 โจทก์ประสงค์จะออกโฉนดที่ดินจึงได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดหลักเขตที่ดินด้านทิศเหนือที่ติดทางสาธารณประโยชน์ จำเลยที่ 1 คัดค้านไม่ให้รังวัดโดยอ้างว่า เฉพาะที่ดินด้านทิศเหนือนั้นเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ที่จำเลยที่ 1 ได้ยกให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจรังวัดต่อไปได้ เมื่อโจทก์ติดต่อขอตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาตาคลี จึงทราบว่าได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 ทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สารบบเลขที่ 240 ของโจทก์ และทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอให้ออก การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 จึงเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนยกให้ผู้ใด จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับที่ดินมาโดยไม่มีค่าตอบแทนย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวตามไปด้วย โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพื่อเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวและเพิกถอนการจดทะเบียนยกให้ต่อกันแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 92 ตารางวา และเพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ของโจทก์ เป็นคนละแปลงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 และจดทะเบียนยกให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนที่โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินของโจทก์โดยนางเป้า จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่โจทก์กับผู้มีชื่อเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องและการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ โดยมีทางสาธารณประโยชน์กั้นกลาง ส่วนด้านทิศเหนือของที่ดินของจำเลยที่ 1 ยังมีทางสาธารณประโยชน์อีกสายหนึ่ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำรังวัดทับที่ดินของโจทก์และผู้มีชื่อ รูปแผนที่สังเขปท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 เดิมมีนายพานและนางละอองครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองตลอดมาจนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2495 นายพานและนางละอองได้สละสิทธิครอบครองและยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อตนเองติดต่อกันมาโดยตลอด ครั้นเมื่อปี 2520 จำเลยที่ 1 ยื่นเรื่องราวขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตาคลี เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2520นับแต่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แล้ว จำเลยที่ 1 ทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2535 จึงได้ยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินอีกเลย จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปขัดขวางการรังวัดที่ดินโจทก์แต่อย่างใด ในช่วงระหว่างปี 2529 ถึง 2530 นางเป้าซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ในขณะนั้นได้ขอรังวัดตรวจสอบที่ดินเพื่อเปลี่ยน น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. ต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอตาคลี ขณะเดียวกันนางเป้ายังได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ของจำเลยที่ 1 มีเนื้อที่บางส่วนรุกล้ำทับที่ดินของตน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนทำการรังวัดตรวจสอบว่าที่ดินทั้งสองแปลงทับกันหรือไม่ ในขณะเริ่มทำการรังวัดนางเป้ากับจำเลยที่ 1 โต้เถียงกันในการนำชี้จึงไม่อาจรังวัดตรวจสอบได้ ต่อมานางเป้ายื่นคำขอถอนการรังวัดที่ดินทำให้การรังวัดสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลงเป็นอันยกเลิกไป การที่นางเป้าอ้างว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 บางส่วนทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 นั้น ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งสิทธิครอบครองต่อนางเป้าแล้ว แต่นางเป้าไม่ได้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 เฉพาะส่วนที่ทับกันภายใน 1 ปี จำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองแล้ว การที่โจทก์ นางถนัด นายมนัส และนายมานพ ซึ่งเป็นบุตรของนางเป้า ได้รับการยกให้ที่ดินดังกล่าวจากนางเป้าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 โดยเสน่หา โจทก์และผู้มีชื่อดังกล่าวย่อมจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนางเป้าที่มีต่อจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง และฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม เพราะมิได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตั้งแต่เมื่อใด อย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ของจำเลยที่ 1 ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ของโจทก์ และโจทก์มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการยกให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ที่ออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 240 ของโจทก์บางส่วนและเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ตามคำขอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 กลับมาเป็นของโจทก์ คดีของโจทก์จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ข้างต้นที่อุทธรณ์ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 ออกทับที่ดินของโจทก์และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้นั้น จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เช่นกัน เมื่อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 509 มีราคาเพียง 9,200 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกินห้าหมื่นบาท ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้วินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นมีเพียง 9,200 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 20,000 บาท จึงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ชำระค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share