คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15397/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ยาเสพติดให้โทษที่จำเลยนำมาเพื่อจำหน่าย 20 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 141 เม็ด การที่จำเลยแบ่งแยกออกมาจากจำนวนเดียวกันเพื่อนำไปจำหน่ายโดยยังไม่มีการจำหน่ายนั้น เป็นเจตนาเดียวกับที่จำเลยมีอยู่เดิมแล้ว ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 และริบยาเสพติดให้โทษที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 2 กระทงลงโทษจำคุกกระทงแรก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท กระทงที่ 2 จำคุก 10 ปี และปรับ 600,000 บาท รวมจำคุก 14 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับ 2 ปี ริบยาเสพติดให้โทษที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงกระทงเดียว จำคุก 10 ปี และปรับ 600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยมี 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 20 เม็ด และอีก 121 เม็ด ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นความผิดต่างกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยมี 3,4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 141 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาจำเลยได้รับการติดต่อจากนายสมศักดิ์ ขอซื้อยาเสพติดให้โทษดังกล่าวข้างต้นจำนวน 20 เม็ด ราคาเม็ดละ 600 บาท จำเลยจึงแบ่งยาเสพติดให้โทษจากจำนวน 141 เม็ด แล้วนำไปส่งมอบให้แก่นายสมศักดิ์ที่หน้าร้านขายเครื่องหนังแห่งหนึ่ง เมื่อจำเลยมาถึงจุดนัดพบ นายสมศักดิ์ เป็นผู้ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและตรวจค้นตัวจำเลยพบ 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด อยู่ในกระเป๋าเสื้อที่จำเลยสวมอยู่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายาเสพติดให้โทษที่จำเลยนำมาเพื่อจำหน่าย 20 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 141 เม็ด การที่จำเลยแบ่งแยกออกมาจากจำนวนเดียวกันเพื่อนำไปจำหน่ายโดยยังไม่มีการจำหน่ายนั้น เป็นเจตนาเดียวกับที่จำเลยมีอยู่เดิมแล้ว ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share