แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1662 กำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บรักษาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า ตามปกติจะต้องเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะเก็บรักษาเอง กรมการอำเภอก็ต้องส่งมอบให้ แต่ก่อนส่งมอบพินัยกรรมคืนกรมการอำเภอจะต้องคัดสำเนาไว้พร้อมลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ แล้วเก็บสำเนาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ ได้ความจาก ด. เจ้าพนักงานปกครอง 7 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า สำเนาสมุดทะเบียนพินัยกรรม ในช่องผู้ซึ่งได้รับมอบพินัยกรรมไป ระบุว่า พินัยกรรมของ พ. และ ส. ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมกลับไปในวันเดียวกับที่ทำพินัยกรรม หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมการอำเภอถ่ายสำเนาพินัยกรรมและเก็บสำเนาพินัยกรรมไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ และมอบต้นฉบับพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของ พ. และ ส. ผู้ทำพินัยกรรมว่าต้องการจะรับพินัยกรรมกลับไปเก็บไว้เอง และเจ้าพนักงานกรมการอำเภอได้คัดถ่ายสำเนาพินัยกรรมดังกล่าวเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามป.พ.พ. มาตรา 1662 แล้ว การที่พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้เก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1662 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามกรมการอำเภอเปิดเผยต้นฉบับหรือสำเนาพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนการที่ผู้ทำพินัยกรรมขอรับพินัยกรรมกลับคืนไป แล้วนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามไว้ คดีนี้ไม่ปรากฏว่ากรมการอำเภอได้เปิดเผยพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่นทราบ ส่วนการที่ผู้รับพินัยกรรมจะทราบข้อความในพินัยกรรมจากผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มิได้ถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไม่มีเนื้อความระบุว่าหากฝ่ายใดไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย อีกฝ่ายก็จะไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นั้น พ. และ ส. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ต่างไม่มีสามีและบุตร การที่บุคคลทั้งสองมีเจตนาตรงกันและยกทรัพย์สินบางส่วนของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อตนถึงแก่ความตายไปก่อน หาใช่เป็นการทำพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมจึงจะมีผลแต่อย่างใดไม่ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมของนางสาวพยอม ฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 และพินัยกรรมของนางสาวสนอม ฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 เป็นพินัยปลอมทั้งฉบับและเป็นโมฆะ ข้อความในพินัยกรรมเป็นโมฆะและไร้ผลบังคับ
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสี่ 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย นาวาอากาศโทสรรพชัย ทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ นางสาวพยอมและนางสาวสนอมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหลานของนางสาวพยอมและนางสาวสนอม ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหลนของนางสาวพยอมและนางสาวสนอม เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2533 นางสาวพยอมและนางสาวสนอมทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามสำเนาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 นางสาวพยอมถึงแก่ความตาย และวันที่ 24 ตุลาคม 2535 นางสาวสนอมถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางสาวพยอม ตามคดีหมายเลขแดงที่ 334/2538 ของศาลชั้นต้น และตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางสาวสนอม ตามคดีหมายเลขแดงที่ 307/2537 ของศาลชั้นต้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางสาวพยอมและนางสาวสนอม จะต้องเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานอำเภอหรือไม่ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมเก็บรักษาพินัยกรรมดังกล่าวไว้เองจะขัดต่อกฎหมายอันเป็นผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1662 บัญญัติว่า พินัยกรรมซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง กรมการอำเภอจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมจะเรียกให้กรมการอำเภอส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใด กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้ โดยก่อนส่งมอบพินัยกรรม ให้กรมการอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรมไว้แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรมนั้นจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ เห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บรักษาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองว่า โดยปกติจะต้องเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะเก็บรักษาเอง กรมการอำเภอก็ต้องส่งมอบให้ แต่ก่อนส่งมอบพินัยกรรมคืนกรมการอำเภอจะต้องคัดสำเนาไว้พร้อมลงลายมือชื่อและประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ แล้วเก็บสำเนาไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ ได้ความจากนางดารณี เจ้าพนักงานปกครอง 7 หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พยานจำเลยที่ 2 ว่า สำเนาสมุดทะเบียนพินัยกรรมเอกสารหมาย ล. 10 ในช่องผู้ซึ่งได้รับมอบพินัยกรรมไป ลำดับที่ 13 และลำดับที่ 14 ระบุว่าพินัยกรรมของนางสาวพยอมและนางสาวสนอม นางสาวพยอมและนางสาวสนอมเป็นผู้รับพินัยกรรมกลับไปในวันเดียวกับที่ทำพินัยกรรม หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมการอำเภอจะถ่ายสำเนาพินัยกรรมและเก็บสำเนาพินัยกรรมไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ และมอบต้นฉบับพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของนางสาวพยอมและนางสาวสนอมผู้ทำพินัยกรรมว่าต้องการจะรับพินัยกรรมกลับไปเก็บไว้เอง และเจ้าพนักงานกรมการอำเภอได้คัดถ่ายสำเนาพินัยกรรมดังกล่าวเก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอ อันเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1662 แล้ว การที่พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้เก็บไว้ที่ที่ว่าการอำเภอจึงไม่ขัดต่อกฎหมายอันจะมีผลทำให้พินัยกรรมดังกล่าวไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อความในพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองจะต้องเป็นความลับ จะเปิดเผยต่อบุคคลอื่นไม่ได้ ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1662 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามกรมการอำเภอเปิดเผยต้นฉบับหรือสำเนาพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนการที่ผู้ทำพินัยกรรมขอรับพินัยกรรมกลับคืนไป แล้วนำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามไว้ คดีนี้ไม่ปรากฏว่ากรมการอำเภอได้เปิดเผยพินัยกรรมให้แก่บุคคลอื่นทราบส่วนการที่ผู้รับพินัยกรรมจะทราบข้อความในพินัยกรรมจากผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ มิได้ถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า นางสาวพยอมและนางสาวสนอมทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในวันเดียวกัน โดยบุคคลทั้งสองต่างยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งของตนให้แก่กันและกัน ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า สำเนาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไม่มีเนื้อความระบุว่าหากฝ่ายใดไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้อีกฝ่าย อีกฝ่ายก็จะไม่ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ นางสาวพยอมและนางสาวสนอมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ต่างไม่มีสามีและบุตร การที่บุคคลทั้งสองมีเจตนาตรงกันและยกทรัพย์สินบางส่วนของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อตนถึงแก่ความตายไปก่อน หาใช่เป็นการทำพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขบังคับว่าผู้รับพินัยกรรมต้องทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมจึงจะมีผลแต่อย่างใดไม่ สำเนาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ