คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 15 มุ่งประสงค์ที่จะให้คดีเยาวชนและครอบครัวได้รับการพิจารณาโดยต่อเนื่อง จึงมิให้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลที่ไม่มีอำนาจต้องเสียไป โดยให้ศาลนั้นๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลที่รับโอนคดีจะเป็นศาลใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาคดีนั้นว่าอยู่ในศาลชั้นใดหากอยู่ในศาลชั้นต้นก็ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว หากอยู่ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยอายุไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์ ขณะกระทำความผิดนั้นไม่ได้ปรากฏต่อศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาไปนั้นย่อมเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงเรื่องอายุของจำเลยเพิ่งปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานางจุฑามาส ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองเพื่อพิจารณาและพิพากษาต่อไป
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นโอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษายังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 15 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่บังคับใช้ในขณะที่โจทก์ฟ้องและขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อเท็จจริงในเรื่องอายุหรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้องจะผิดไปหรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13 ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม ข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลนั้น ๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้คดีเยาวชนและครอบครัวได้รับการพิจารณาโดยต่อเนื่อง จึงมิให้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลที่ไม่มีอำนาจต้องเสียไป โดยให้ศาลนั้น ๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลที่รับโอนคดีจะเป็นศาลใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาคดีนั้นว่าอยู่ในศาลชั้นใด หากอยู่ในศาลชั้นต้นก็ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว หากอยู่ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ขณะกระทำความผิดนั้นไม่ได้ปรากฏต่อศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาไปนั้นย่อมเป็นการชอบด้วยมาตรา 15 ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงเรื่องอายุของจำเลยเพิ่งปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองจึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีโดยมิได้นำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมาใช้ประกอบการพิจารณาไม่ถูกต้อง และจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้โอนคดีไปให้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองพิจารณาพิพากษาต่อไปนั้น ในข้อนี้จำเลยไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าไม่ถูกต้องประการใด ฎีกาของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้งเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยในประการอื่นไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยต้องเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 โอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป

Share