คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดทำงานฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 57 บัญญัติว่า “ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใดๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521” การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ทั้งกฎหมายทั้งสองฉบับมีระวางโทษเท่ากัน จึงต้องใช้กฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำความผิด ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 และมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ขณะที่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 6, 33 ดังนี้ ในขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 แต่ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 กับพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ยังเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าวหรือไม่ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 57 บัญญัติว่า “ให้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 ให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ให้นายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใด ๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521” ดังนี้ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว ทั้งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังมีระวางโทษเท่ากันจึงไม่แตกต่างกัน อันจะเป็นปัญหาให้ต้องพิจารณาปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 33 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share