คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ถึงวันใดไม่ปรากฏชัด เดือนมิถุนายน 2552 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ… แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้สืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดในวันเวลาใด แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลย คือจำเลยกระทำความผิดก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 ซึ่งมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) เป็นคุณกว่ามาตรา 277 วรรคท้าย (ที่แก้ไขใหม่) เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน ดังนี้ สำหรับความผิดในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) จำเลยไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 277 วรรคท้าย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 วรรคแรก (ที่ถูก 277 วรรคแรก (เดิม)) 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 โดยในมาตรา 277 วรรคท้าย (ที่แก้ไขใหม่) คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันกับกฎหมายเดิม ต่างกันแต่เพียงอายุของบุคคลผู้กระทำความผิด คดีนี้ขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 23 ปี อยู่ในเกณฑ์อายุตามมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) โดยมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) บัญญัติว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ… ส่วนมาตรา 277 วรรคท้าย (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่าความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ …เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ถึงวันใดไม่ปรากฏชัด เดือนมิถุนายน 2552 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ…ซึ่งมีทั้งวันที่ก่อนแก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมายแต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดในวันเวลาใด จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่ใช้บังคับ ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ซึ่งกฎหมายมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) เป็นคุณแก่จำเลยกว่ามาตรา 277 วรรคท้าย (ที่แก้ไขใหม่) เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรากฏว่าศาลจังหวัดกระบี่แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน ตามคำสั่งศาลจังหวัดกระบี่แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ลงวันที่ 22 มีนาคม 2553 และใบสำคัญการสมรส ลงวันที่ 28 เมษายน 2553 ดังนี้ สำหรับความผิดในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 ยินยอม จำเลยไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) ซึ่งบัญญัติว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำกับหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225…
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ปรับ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share